วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

วัดถ้ำเหวสินธุ์ชัย

วัดถ้ำเหวสินธุ์ชัย


ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2222 ก่อนถึงโขงเจียมประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าไปตามทางเข้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะฝั่งซ้ายประมาณ 200 เมตร บริเวณถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์บรรยากาศสงบเงียบ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมนักท่องเที่ยวควรใช้ความสงบในการเยี่ยมชม รอบๆ วัดมีก้อนหินขนาดใหญ่เรียงรายอยู่มากมาย มีต้นไม้และดอกไม้ตามฤดูกาลสวยงาม นอกจากนี้ยังมีน้ำตกไหลจากหน้าผาด้านบนผ่านลงมาบริเวณด้านหน้าพระนอนก่อนที่จะตกลงสู่หุบเหวเบื้องล่างสร้างบรรยากาศให้ร่มเย็น จะมีน้ำมากในช่วงปลายฤดูฝน น้ำตกแห่งนี้เรียกว่าน้ำตกถ้ำเหวสินธุ์ชัย บริเวณเหนือถ้ำยังมีทุ่งดอกหญ้าที่มีความสวยงามหลายชนิด





แผนที่

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

จังหวัดอุบลราชธานี


จังหวัดอุบลราชธานี

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

คำขวัญประจำจังหวัด : เมืองดอกบัวบาน แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราชใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์
ตราประจำจังหวัด : รูปดอกบัวบานชูช่อพ้นน้ำ
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นยางนา (Dipterocarpus alatus)
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกบัว
สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาเทโพหรือปลาปึ่ง (Pangasius larnaudii)

ประวัติเมืองอุบลราชธานี

 ตำนานเมืองอุบล ได้กล่าวกันถึงการสืบเชื้อสายจากเจ้านครเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ของเจ้าปางคำ พระบิดา ของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ โดยกล่าวถึง ปี พ.ศ.2228 เกิดวิกฤตทางการเมือง ในนครเชียงรุ้ง เนื่องจาก จีนฮ่อหัวขาว หรือฮ่อธงขาว ยกกำลัง เข้าปล้นเมืองเชียงรุ้ง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี เจ้าปางคำ อพยพไพร่พล จากเมืองเชียงรุ้ง มาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็น พระประยูรญาติ ทางฝ่ายมารดา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่ เมืองหนองบัวลุ่มภู เมือง หนองบัวลุ่มภู จึงอยู่ในฐานะ พิเศษ คือไม่ต้อง ส่งส่วย บรรณาการ มีสิทธิสะสม ไพร่พล อย่างเสรีเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับ เวียงจันทน์ มีชื่อว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" สันนิษฐานว่า น่าจะมีฐานะ เป็นเมืองลูกหลวง ต่อมา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้ เจ้าอินทกุมาร เสกสมรส กับ พระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ได้โอรส คือ เจ้าคำ หรือเจ้าองค์นก ให้เจ้า นางจันทกุมารี เสกสมรสกับ พระอุปยุวราช ได้โอรส คือ เจ้ากิงกีศราช และ เจ้าอินทโสม ซึ่งต่อมา คือบรรพบุรุษของ เจ้านายหลวงพระบาง ส่วนเจ้าปางคำ ให้เสกสมรสกับ พระราชนัดดา ได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอ สันนิษฐานว่า ทั้งสองท่านเป็นเสนาบดี กรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่สมัย พระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (ชัยวงค์เว้) พระอัยกาของ พระเจ้า สิริบุญสาร การดำรงฐานะเป็น เจ้านายเชื้อสายพระราชวงศ์ ของพระเจ้าวอ พระเจ้าตา เห็นได้จากหลักฐาน หลายประการ อาทิ การที่หนองบัว ลุ่มภู เป็นเมือง ใหญ่ มีไพร่พลมาก ดังปรากฎเมืองหน้าด่านทั้งสี่ คือ เมืองภูเขียว ภูเวียง เมืองผ้าขาว เมืองพันนา และ การที่ เมืองอุบล ดำรง ฐานะเป็น เจ้าประเทศราชเมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์ ไทย ต่างจากเมืองเขมร ป่าดงอื่นๆ และเมื่อกำเนิด พ.ร.บ. นามสกุล โปรด พระราชทานนามสกุล "ณ อุบล" อันหมายถึง เชื้อสายเจ้านาย อุบลราชธานี แต่โบราณ เมื่อเจ้านายอุบล ถึงแก่อสัญกรรม ก็มี ประเพณี การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ อันสืบมาจากนครเชียงรุ้ง ในเชียงใหม่ ก็ปรากฎการ ทำศพแบบนกหัสดีลิงค์เช่นเดียวกัน

            การตั้งเมืองอุบลราชธานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านเมือง ค่อนข้างสงบก็ทรงมี นโยบายที่จะ จัดตั้งเมือง ให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมไพร่พลให้เป็นปึกแผ่น เพื่อความสงบสุข สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึง เรื่องนี้ว่า  "…รัชกาล ที่ 1 ถึงรัชการที่ 3 ให้เจ้าเมืองร้าง เที่ยวเกลี้ยกล่อมหา ผู้คนมาเป็นพลเมือง โดย ไม่ต้องใช้อำนาจ อาจทำได้ด้วยยินดีด้วยกัน ทุกฝ่ายก็สำเร็จ ประโยชน์ ถึงความมุ่งหมาย เจ้าเมืองไหนเกลี้ยกล่อมคนมาได้มาก ก็ได้ทรัพย์เศษส่วน และได้ผู้คนสำหรับอาศัยใช้สอยมากขึ้น ก็เต็มใจขวนขวาย ตั้งบ้านเมือง ฝ่ายราษฎรที่ไปเที่ยวหลบลี้ เดือดร้อนลำบากมากอยู่ เมื่อรู้ว่า บ้านเมืองเรียบร้อยอย่างเดิม ก็ยินดีที่จะกลับมา โดยมาก……" คงจะเป็น เพื่อสนองตอบ พระบรมราโชบาย ในการตั้งเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพของ ไพร่บ้านพลเมือง "….ในปี พ.ศ.2329 ( จุลศักราช 1148 ปีมะเมีย นพศก) พระประทุมจึงย้ายครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่ ณ ตำบลแจระแม ตือตำบล ที่ตั้ง อยู่ทาง ทิศเหนือ เมืองอุบลปัจจุบัน….."

             สถาปนาเมืองอุบลราชธานี พ.ศ.2335 พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) ได้พาพรรคพวกไพร่พลตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยแจระแม (บริเวณบ้าน ท่าบ่อ ในปัจจุบัน) ด้วยความปกติสุขเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ.2334 (จุลศักราช 1153 ตรีศก) อ้ายเชียงแก้ว ซึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลเขาโองแขวง เมืองโขง คิดการกบฎ พาพรรคพวก ไพร่พลเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้าเมืองซึ่งกำลังป่วยอยู่ก็มี อาการป่วยทรุดหนัก และถึงแก่พิราลัย อ้ายเชียงแก้วจึงยึดเมือง นครจำปาศักดิ์ไว้ได้ ความทราบ ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็น พระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฎอ้ายเชียงแก้ว อย่างไรก็ดีขณะที่กองทัพนครราชสีมายกมาไม่ถึงนั้น พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้อง ที่ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ได้ยกกำลังไปรบอ้ายเชียงแก้วก่อน ทั้งสองฝ่าย ได้สู้รบกันที่บริเวณ แก่งตะนะ (อยู่ในท้องที่ อำเภอโขงเจียม) กองกำลัง อ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป อ้ายเชียงแก้วถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต เมื่อกองทัพ เมืองนครราชสีมายกมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงพากันยกกองทัพ ไปตีพวกข่า "ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลย ได้เป็นจำนวนมาก จากความ ดีความชอบในการปราบปรามกบฎอ้ายเชียงแก้วนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช จึงได้ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ท้าวฝ่ายหน้าเป็น พระวิไชยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระประทุม สุรราช เป็นพระประทุม วรราชสุริยวงศ์ ครอง เมืองอุบลราชธานี พร้อมกับยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ดังปรากฎ ในพระสุพรรณบัตรตั้ง เจ้าประเทศราชในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า "….ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ผ่าน พิภพกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ตั้งให้ พระประทุม เป็นพระประทุมวรราช สุริยวงศ์ ครองเมือง อุบลราชธานี ศรีวนาไลยประเทศราช เศกให้ ณ วัน 2 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 ปีจัตวาศก..."


เจ้าเมืองอุบลราชธานีในอดีต ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมีจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่านดังนี้


1. พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2335-2338) นามเดิม ท้าวคำผง บุตรเจ้าพระตา เป็นบุคคลสำคัญ ในการสร้างบ้าน แปงเมืองอุบล โปรดให้สร้างคู ประตูเมือง หอโฮงเจ้านายต่างๆ สร้างวัดหลวง และเสนาสนะ อาทิ สิม อาฮาม หอระฆัง พระพุทธรูป สิ่งก่อสร้าง ล้วนเลียนแบบ ศิลปแบบหลวงพระบาง


2. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2338-2388) นามเดิม พรหม น้องชายพระประทุม (คำผง) เป็นบุตรชาย คนเล็กของ เจ้าพระตา เป็นผู้ก่อสร้างวัด ป่าหลวง (วัดป่าหลวงมณีโชติ) นำไพร่พลผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูป องค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูน เป็นที่ เคารพสักการะของชาวอุบลฯ มีชื่อว่า พระเจ้าใหญ่ อินทร์แปลง ปัจจุบัน เป็นพระประธาน ในวิหารวัดมหาวนาราม


3. พระพรหมราชวงศา (พ.ศ.2388-2409) นามเดิม กุทอง สุวรรณกูฏ บุตรพระพรหม (ทิดพรหม) ในสมัยของท่าน ธรรมยุติกนิกาย แพร่หลายในเมือง อุบลฯ เพื่อสนองพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างวัดสุปัฏนาราม และบรรดา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ร่วมกัน สร้างวัดศรีทอง (ศรีอุบลรัตนาราม) วัดสุทัศน์ ซึ่งเหตุการณ์สำคัญในสมัยนี้คือการเข้าร่วมสงคราม ขับไล่ญวน


4. เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (พ.ศ.2409-2425) เจ้าพรหมเทวา (เจ้าหน่อคำ) เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดา ด้วงคำใน รัชกาลที่ 4 เจ้าราชวงศ์ จำปาศักดิ์ บุตรเจ้าเสือหลานเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยของท่านได้สร้างวัดไชยมงคล ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตที่สี่ ในจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งที่พึงสังเกต คือ ความขัดแย้งระหว่าง เจ้าเมืองอุปฮาด ราชวงศ์ รุนแรง เนื่องจากฝ่ายเจ้านายอุบลฯ ไม่พอใจที่ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าเมือง ในสมัยนั้นจึง เกิดการทะเลาะ วิวาทขัดแย้งกัน กลั่นแกล้งกันอยู่เสมอ ท้ายที่สุด ราวปี พ.ศ.2412 เกิดกรณี เมืองไซแง ได้เกิดความบาดหมาง ทวีความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างเกล่าโทษ ซึ่งกัน และกัน เจ้าพรหม กล่าวหาว่า อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ขัดขวางไม่ให้เก็บเงินส่วย จากไพร่ ข้างฝ่ายอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ก็กล่าวหาว่า เจ้าพรหม ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งสองฝ่ายจึงลงมา สู้ความกันที่กรุงเทพฯ จนพากันถึงแก่อสัญกรรม ต่างฝ่ายต่างสูญเสียทรัพย์สินส่วนตัวเป็นจำนวนมาก พ.ศ. 2418 เกิดศึกฮ่อ เจ้าพรหมเทวาถูกเกณฑ์ไปราชการทัพฮ่อ หลังศึกฮ่อได้อัญเชิญพระพุทธรูป 2 องค์ คือ พระทองทิพย์ และพระทอง ประดิษฐาน ที่วัดศรีทอง และวัดไชยมงคล


พ.ศ. 2422 กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านท่ายักขุ เป็นเมืองชานุมานมณฑล บ้านพระเหลา เป็นเมืองพนานิคม ให้เมืองทั้งสอง ขึ้นกับเมือง อุบลราชธานี พบหลักฐาน เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง องค์ที่ 3 คือ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) กล่าวถึงเครื่องยศ ที่ทางกรุงเทพฯ พระราชทานแก่ เจ้าเมืองอุบลฯ ประกอบด้วย


การแต่งตั้งเจ้าเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐาน เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง องค์ที่ 3 คือ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) กล่าวถึงเครื่องยศ ที่ทางกรุงเทพฯ พระราชทานแก่ เจ้าเมืองอุบลฯ ประกอบด้วย พานถมเครื่องในทองคำ 1 สำรับ
เครื่องยศเจ้าเมืองอุบลฯ สมัยโบราณ

คนโททองคำ 1 ใบ
กระโถนถม 1 ใบ
ลูกประคำทองคำ 1 สาย
กระบี่บั้งถม 1 อัน
เสื้อหมวกตุ้มปี 1 ชุด
สัปทนปัสตู 1 ชุด
ปืนคาบศิลาคอลาย 1 กระบอก
เสื้อเข้มขาบริ้วเลื้อย 1 ตัว
ส่านไทยปักทอง 1 ชุด
ผ้าปู 1 ผืน


 มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้าเมืองปกครองราษฎร ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ดังความว่า "...ให้โอบอ้อมอารีต่ออาณาประชาราษฎร์ อย่าเบียดเบียน ข่มเหงไพร่บ้านพลเมือง ปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ทำนุบำรุงพระสงฆ์ สามเณรให้ปฏิบัติเล่าเรืยนคันถธุระ วิปัสสนาธุระ กำชับ กำชาไพร่บ้านพลเมือง อย่าให้สูบฝิ่น ซื้อฝิ่น กินฝิ่น ให้กระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง...

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญและประเทศลาว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงจำปาศักดิ์ (ประเทศลาว) โดยพรมแดนบางช่วงใช้แม่น้ำโขงเป็นตัวกำหนด
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร (ประเทศกัมพูชา)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธร แนวพรมแดนติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา รวมความยาวประมาณ 428 กิโลเมตร

ติดต่อกับประเทศลาว 361 กิโลเมตร (จากอำเภอเขมราฐถึงอำเภอน้ำยืน ติดต่อกับแขวงสุวรรณเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาศักดิ์)
ติดต่อกับประเทศกัมพูชา 67 กิโลเมตร (อำเภอน้ำยืน ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา)

ทรัพยากรโดยสังเขป

ทรัพยากร ดิน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีประชากรมาก ดินเป็นทรัพยากรคิด เป็นร้อยละ 86.6 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด หรือประมาณ 10,299,063 ไร่ ด้านป่าไม้มีทั้งป่าเต็งรัง หรือป่าแดงมีอยู่ทั่วไป มีเขตป่าดงดิบในเขตอำเภอน้ำยืน และป่าผสม ส่วนป่าเบญจพรรณมีอยู่ในอำเภอเขมราฐ อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้กระยาเลย ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตระแบก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เคี่ยม ไม้ชุมแพรก ไม้กันเกรา สภาพพื้นที่ป่าไม้จากการสำรวจเมื่อปี 2538 มีเนื้อป่าประมาณ 2,495 ตร.กม. หรือประมาณ 1.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.49 ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งได้ดังนี้ ป่าถาวร ตามมติ ครม.จำนวน 1 ป่า เนื้อที่ 77,312.50 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 46 ป่า เนื้อที่ 3,396,009.163 ไร่ พื้นที่ป่า สปก. จำนวน 40 ป่า เนื้อที่ 1,665,543.30 ไร่ ป่าอนุรักษ์ ตาม มติ ครม. จำนวน 10 ป่า เนื้อที่ 1,439,998.402 ไร่ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย จำนวน 5 ป่า เนื้อที่ 880,220.00 ไร่ สวนป่า จำนวน 15 ป่า เนื้อที่ 20,985.73 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ (รวม จ.อำนาจเจริญ) เนื้อที่ 24,292,656 ไร่

แร่ธาตุ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีแร่อโลหะเพียงชนิดเดียว คือ เกลือหิน ซึ่งเจาะพบแล้ว 2 แห่งคือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอตระการพืชผล นอกจากนี้ มีทรัพยากรแร่ที่อยู่ในรูปของหินชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค
จังหวัดอุบลราชธานีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 219 ตำบล 2469 หมู่บ้าน ได้แก่

1. อำเภอเมืองอุบลราชธานี
2. อำเภอศรีเมืองใหม่
3. อำเภอโขงเจียม
4. อำเภอเขื่องใน
5. อำเภอเขมราฐ
6. อำเภอเดชอุดม
7. อำเภอนาจะหลวย
8. อำเภอน้ำยืน
9. อำเภอบุณฑริก
10. อำเภอตระการพืชผล
11. อำเภอกุดข้าวปุ้น
12. อำเภอม่วงสามสิบ
13. อำเภอวารินชำราบ
14. อำเภอพิบูลมังสาหาร
15. อำเภอตาลสุม
16. อำเภอโพธิ์ไทร
17. อำเภอสำโรง
18. อำเภอดอนมดแดง
19. อำเภอสิรินธร
20. อำเภอทุ่งศรีอุดม
21. อำเภอนาเยีย
22. อำเภอนาตาล
23. อำเภอเหล่าเสือโก้ก
24. อำเภอสว่างวีระวงศ์
25. อำเภอน้ำขุ่น

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดยโสธร









แผนที่


แม่น้ำสองสี


แม่น้ำสองสี


แม่น้ำสองสี หมายถึง แม่น้ำที่มีสีของน้ำที่แบ่งได้เป็นสองสี กล่าวคือ เป็นสีของน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ซึ่งไหลมาบรรจบกัน บริเวณดอนด่านหรือปากมูล ทำให้น้ำบริเวณนั้นมีสีแตกต่างกันและจะผสมกลมกลืนเป็นสีเดียวกัน ไหลตามลำน้ำโขงลงสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป จะเห็นได้ชัดเจนช่วงเดือนเมษายน

ลักษณะของสีน้ำในลำน้ำมูลจะมีสีใสคล้ายสีคราม และลักษณะของสีน้ำในแม่น้ำโขงจะมีสีเข้มคล้ายสีปูน เนื่องจากมีการสะสมของฝุ่นตะกอนมาก มีชื่อเรียกติดปากว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” ในบริเวณที่แม่น้ำทั้งสองไหลลงมาบรรจบกันจะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งหินยื่นไปในแม่น้ำ เรียกว่า ดอนด่าน เป็นธรรมชาติที่สวยงาม ในฤดูแล้งสามารถเดินเท้าจากฝั่งแม่น้ำไปตามโขดและแก่งหินได้

แม่น้ำสองสี ดอนด่าน และปากมูล อยู่บริเวณหลังวัดโขงเจียม ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 800 เมตร

แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลผ่านหรือเป็นเส้นกั้นพรหมแดนประเทศน้อยใหญ่มากถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขงนั้นมีสามเหลี่ยมดินดอนที่มีความหลากหลายทางชีววิทยาและธรณีวิทยาอย่างยิ่ง อีกทั้งตลอดเส้นทางของแม่น้ำโขงยังมีพันธ์ุปลานับพันชนิด โดยเฉพาะปลาบึกซึ่งพบได้เพียงเฉพาะแม่น้ำสายนี้เท่านั้น จึงเป็นแม่น้ำที่สำคัญอย่างยิ่ง ความยาวของแม่น้ำโขงวัดแล้วยาวราว 4,900 กิโลเมตร ติดอันดับ 10 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก

แม่น้ำโขงจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานีด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ประมาณ 130 กิโลเมตร โดยผ่านอำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และจุดสุดท้ายที่บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม 

มีตำนานของชาวไทยกับลาว ได้เล่าขานมาว่าแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินแห่งประเทศพม่ามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน แต่ถึงคราวแยกจากเพราะพญานาคสองตนทะเลาะกัน หนึ่งตนเลือกเส้นทางใกล้กว่าแต่ผ่านหุบเขาผืนป่ารกทึบไร้ผู้คนเพื่อมุ่งหน้าสู่ท้องทะเลกลายเป็นแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ตนหนึ่งเลือกเดินทางไกลผ่านที่ราบดินแดนของผู้คนหลากหลายอารยธรรม สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ซึ่งก็คือแม่น้ำโขง

แม่น้ำมูล เป็นแม่น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาในจังหวัดนครราชสีมา มีความยาว 640 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำ 69,701 ตารางกิโลเมตร แต่เดิมนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้คำสะกด "มูน" ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึง สิ่งมีค่าน่าหวงแหน เป็นมรดกของบรรพบุรุษสั่งสมเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่ทางราชการได้กำหนดภาษาราชการตามเสียงเรียก โดยสะกด "มูล" ด้วย ล

แม่น้ำมูลไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเป็นระยะทางยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ที่อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ กิ่งอำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร ไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริวเณดอนด่านหรือปากมูล อำเภอโขงเจียม มีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยปีละ 24,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 760 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประชาชนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูลในการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่



แผนที่


วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทุ่งศรีเมือง

ทุ่งศรีเมือง

ทุ่งศรีเมือง เดิมชื่อ "นาทุ่งศรีเมือง" เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมืองอุบลราชธานี และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ของเจ้าเมืองและเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญของจังหวัด และเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล) ประกอบด้วยคูเมืองเป็นน้ำล้อมลอบ มีประตูทางเข้า 4 ทิศ 4 ประตู ซึ่งตั้งชื่อตามนามของเจ้านายพื้นเมือง คือ

อุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล )
อุบลศักดิ์ประชาบาล
อุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์)
อุบลกิจประชากร



แก่งตะนะ


อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 33 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมท้องที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่ไหลเชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลางน้ำ

คำว่า “ตะนะ” ตามคำเล่าขานของชาวบ้านเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “มรณะ” เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า “แก่งมรณะ” ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า “แก่งตะนะ”

สภาพพื้นที่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และเนินเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่าน มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาบรรทัด สูงประมาณ 543 เมตร ทำให้มีลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตลมมรสุม แต่เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำสำคัญสายใหญ่ 2 สาย อากาศจึงแตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไป คือ ฤดูร้อน อากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป ฤดูหนาว ไม่หนาวจัด ส่วนฤดูฝน ฝนตกค่อนข้างชุก สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะมีผู้มาเที่ยวชมแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง และน้ำตกต่างๆ ส่วนในปลายฤดูหนาวและฤดูร้อน นิยมมาเที่ยวชมแก่งต่างๆ ในลำน้ำมูลแทน

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอุทยานมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ที่คุณไม่ควรพลาดคือการได้มาชมถ้ำพระ หรือถ้ำภูหมาใน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นชะง่อนผายื่นเข้าไปในฝั่งแม่น้ำมูล ภายในถ้ำมีการค้นพบศิลาจารึกและแท่นศิวลึงค์ ส่วนของฐานโยนีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) ส่วนศิลาจารึกของจริงได้มีการนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอุบลราชธานี ส่วนที่เที่ยวทางธรรมชาติมีทั้งน้ำตกและแก่งหินในลำน้ำในแม่น้ำมูล ที่คุณไม่ควรพลาดคือการมาเที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำและชมวิวที่แก่งตะนะ ซึ่งลักษณะของแก่งเกิดจากดอนตะนะที่แบ่งสายน้ำมูลออกเป็นสองสาย ก่อนจะไหลโอบดอนมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง บริเวณนี้มีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและแก่งหินใต้น้ำ จึงทำให้ปลาบริเวณแก่งตะนะชุกชุม

นอกจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะยังได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อเดินศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเริ่มต้นจากแก่งตะนะไปยังลานผาผึ้ง และเส้นทางที่สองที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือจากแก่งตะนะไปดอนตะนะ ซึ่งด้านบนของดอนจะมีหาดทรายในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้งให้ลงเล่น ด้วยสิ่งที่ทำให้ดอนตะนะดูโดดเด่นคือสะพานแขวนลวดสลิงขนาดใหญ่ที่แขวนเชื่อมจากฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นจุดชมวิวลำน้ำมูลและวิวแก่งได้อย่างสวยงามอีกด้วย ส่วนที่ลานผาผึ้งนั้นเป็น พลาญหินทรายและหน้าผาชันที่มีวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม มองเห็นภูมิทัศน์ได้กว้างไกลถึงประเทศลาวเลยทีเดียว

ส่วนใครที่ชอบการเที่ยวน้ำตก ที่นี่มีน้ำตกตาดโตนให้คุณได้เที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำได้ด้วย เป็นน้ำตกที่เดินทางสะดวกเพราะตั้งอยู่ริมถนน ต้นน้ำเกิดจากลำห้วยตาดโตน ไหลผ่านลำธารหินที่ยุบตัวลงเกิดเป็นน้ำตกชั้นไม่สูงนัก แต่มีสายน้ำที่สวยงามในช่วงฤดูฝน มีจุดให้คุณได้ลงเล่นน้ำได้ทั้งด้านบนน้ำตกและแอ่งน้ำด้านล่าง ช่วงเวลาท่องเที่ยวน้ำตกตาดโตนคือตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม

นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่น่าเทียวอีก 2-3 แห่ง แม้ว่าจะเป็นน้ำตกเล็กๆ แต่ก็ทำให้คุณเพลิดเพลินได้ไม่น้อย เช่น น้ำตกและบึงห้วยหมาก น้ำตกห้วยกว้าง และน้ำตกรากไทร





แผนที่


สวนเสือตระการ


สวนเสือตระการ


สวนสัตว์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆที่นักท่องเที่ยวเลือกไปในวันหยุด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางกันเป็นครอบครัว เด็กๆมักจะอยากไปสวนสัตว์ เพื่อไปชมสัตว์นานาชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และที่ภาคอีสาน มีสวนสัตว์ขึ้นชื่อที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีคือ สวนเสือตระการ อุบล ฟังชื่อแค่นี้ก็รู้ได้แล้วว่า สัตว์ที่นักท่องเที่ยวตั้งใจไปดูมากที่สุดก็คือ “เสือ” ที่นี่เสือจะเยอะ นักท่องเที่ยวมักจะพาลูกหลานมาดู ทำให้มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันนี้

ที่สวนเสือตระการ ไฮไลท์เด็ดเมื่อมาที่นี่ก็คือ จะได้พบกับเสือจำนวนมาก เรียกได้ว่าเดินเข้ามาท่ามกลางดงเสือเลยทีเดียว ใครที่ชื่นชอบเสือ ทั้งร่างกาย และลวดลายที่สวยงาม อยากชื่นชมใกล้ๆ ที่สวนเสือตระการ มีบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเสือได้ด้วยความปลอดภัย มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปกับลูกเสือตัวเล็กๆได้ แต่ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สวนเสือด้วย เพื่อความปลอดภัย และนอกจากจะมีเสือเป็นไฮไลท์เด็ดแล้ว ที่สวนสัตว์แห่งนี้ก็ยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆมากมายให้ได้เลือกชม อากาศจะค่อนข้างเย็นสบายเพราะอยู่ติดป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า ใครที่เดินทางไปเที่ยวสวนเสือตระการ อุบลราชธานี ไม่ต้องห่วง เพราะอากาศจะไม่ร้อนอย่างแน่นอน

การเดินทางไปท่องเที่ยวชมเสือ ชมสัตว์ต่างๆที่สวนเสือตระการ ควรไปในช่วงวันหยุด ไปเที่ยวยกครอบครัว เพราะค่าเข้าชมไม่แพง ถึงแม้ว่าสวนเสือตระการจะเป็นสวนสัตว์ของเอกชน แต่ราคาก็ไม่แพงอย่างที่คิด อย่างเช่นค่าถ่ายภาพกับสัตว์หรือลูกเสือก็อยู่ที่ประมาณ 100 บาท ส่วนอาหารสัตว์ต่างๆก็มีขายในราคา 20-30 บาทเท่านั้น ถือว่าไม่แพง ผู้ปกครองสามารถพาลูกหลานเดินทางมาท่องเที่ยวได้เพราะปลอดภัยดี นอกจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เดินทางมาในช่วงวันหยุดแล้ว ที่สวนเสือตระการยังเป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษาได้ด้วยเช่นเดียวกัน ครูอาจารย์บางโรงเรียนมักจะพานักเรียนนักศึกษามาทัศนศึกษาที่นี่ เพื่อเรียนรู้แหล่งธรรมชาติ สัมผัสกับป่า สัมผัสกับการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ดี  ชาวอีสานไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล มุ่งหน้าไปที่อุบลราชธานี ยังไม่ทันถึงเมืองอุบลก็เข้าชมสัตว์ต่างๆได้แล้ว


แผนที่


เขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเห่ว ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีความสูง 17 เมตร ยาว 255 เมตร มีความจุของอ่างเก็บน้ำ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนปากมูลอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 75 กิโลเมตร และห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงประมาณ 5.5 กิโลเมตร

เขื่อนปากมูลสามารถอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น ด้านการชลประทาน สามารถสูบน้ำจากเขื่อนให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ถึง 160,000 ไร่ ด้านพลังงานไฟฟ้า เขื่อนปากมูลสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยเฉลี่ยปีละ 280 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งช่วยเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ด้านการประมง บันไดปลาโจนและศูนย์เพาะพันธุ์ปลาที่สร้างขึ้น ช่วยพัฒนาการประมงในลำน้ำเหนือเขื่อนปากมูล ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านการคมนาคม สันของเขื่อนปากมูลสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดจากอำเภอโขงเจียมไปอำเภอสิรินธรได้โดยไม่ต้องย้อนไปอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางขนส่งได้มาก

สำหรับในด้านการท่องเที่ยว เขื่อนปากมูลถือเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ทั้งนี้กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การชมทัศนียภาพของแม่น้ำมูล ณ บริเวณสันเขื่อน ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ด้านหลังเขื่อน เป็นภาพลำน้ำมูลที่เต็มไปด้วยแก่งหินมากมาย ดูสวยงามยิ่งนัก นอกจากนี้บริเวณท้ายเขื่อนยังสามารถล่องเรือชมทิวทัศน์อันงดงามของลำน้ำมูลได้โดยตลอดจนถึงจุดที่บรรจบกับแม่น้ำโขง บริเวณที่เรียกว่า แม่น้ำสองสี

วันและเวลาทำการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.

ค่าเข้าชม: ฟรี




แผนที่