วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

เกาะภูกระแต


เกาะภูกระแต


ที่ชื่อภูกระแตเนื่องจากเมื่อในอดีตก่อนสร้างเขื่อนสิรินธร มองจากหมู่บ้านด้านล่างขึ้นไปจะเป็นที่สูง ชาวอีสานเรียกที่สูงว่าภูและบนภู มีกระแตซึ่งเป็นสัตว์ป่าชนิดเดียวกับกระรอก อาศัยอยู่มาก จึงเรียกภูนี้ว่าภูกระแต ต่อมาได้มีการสร้างเขื่อนสิรินธรในปีพ.ศ.2509 และแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2512 ซึ่งทำให้น้ำท่วมหมู่บ้านใกล้เคียง ประมาณ 4 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้พากันอพยพไปตั้งหลักแหล่งในที่ใหม่ แต่ชาวบ้านบางส่วนนำเงินที่ราชการตอบแทนให้ ซื้อที่ดิน อยู่ใกล้ภูกระแตแทน และทำมาหากินในบริเวณนี้มาจนถึงปัจจุบัน

คุณศริตา ทองเรือง ผู้ใหญ่บ้านโนนกลาง ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เคยเป็นผู้รับเหมา ทำงานเดินระบบสายไฟฟ้า ในบ้านและอาคาร ที่ต่างจังหวัดและในจังหวัดอุบลฯ กับสามี ต่อมาตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านโนนกลางซึ่งเป็นบ้านเกิด จึงคิดอยากจะทำงานช่วยเหลือ รับใช้พ่อแม่ พี่น้องบ้านเกิด ประกอบกับชาวบ้านให้การสนับสนุน และได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านเมื่อปีพ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบันและทำงานพัฒนาหมูบ้านโนนกลาง เส้นทางในการมาท่องเที่ยวที่เกาะภูกระแตมาโดยตลอด จนเป็นที่รู้จัก

เกาะภูกระแต ตั้งอยู่พื้นที่บ้านโนนกลาง หมู่ 11 ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี อยู่บริเวณด้านข้างของตัวเขื่อนสรินธร มีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ มีความโดดเด่น ตรงที่มีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ ที่มีความอุดมสมบรูณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และนั่งเรือชมทัศนียภาพของสายน้ำ โขดหิน และวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น ได้ ซึ่งห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 90 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอพิบูลมังสาหารประมาณ 25 กิโลเมตร

เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สงบเงียบ ลมพัดตลอดเวลา ทำให้รู้สึกเย็นสบาย มีจุดถ่ายรูป ชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ผืนน้ำที่กว้างใหญ่ น้ำใสเย็น โขดหินที่เรียงรายน้อยใหญ่สลับกันเหมาะกับการนั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีร้านขายอาหารจากคนในชุมชน มีลานสำหรับกลางเต้นท์แต่ต้องติดต่อกับผู้นำชุมชนก่อนในช่วงหน้าหนาว หน้าร้อนจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเนื่องจากน้ำในเขื่อนสิรินธรลดลง สามารถขับรถข้ามไปยังเกาะภูกระแตได้สะดวก ส่วนในช่วงหน้าฝนน้ำจะท่วมปิดเส้นทางรถยนต์ ต้องเดินทางเข้ามาโดยเรือหาปลาหรือแพของชาวบ้านเท่านััน






แผนที่


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามจุดมุ่งหมายของการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ โดยให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและเพื่อให้เป็นศูนย์อนุรักษ์ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และให้บริการทางการศึกษาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง


อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2532 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2544

การจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑ์ มุ่งเน้นเรื่องราวด้านต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา ศาสนาและการปกครอง โดยแบ่งการจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 10 ห้อง ดังนี้

ห้องที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี
จัดแสดงข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอุบลราชธานี แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้ง การแบ่งเขตการเมืองการปกครอง และเส้นทางคมนาคม ตราประจำจังหวัด ภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญทั้งทางด้านวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ


ห้องที่ 2 ภูมิศาสตร์ทัพยากรธรณีวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดแสดงข้อมูลการกำเนิดโลก แผนที่ลักษณะธรณีวิทยาที่ราบสูง ซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ เรื่องราวของไดโนเสาร์ ตัวอย่างแร่และหินขนาด และการขุดพลอยในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

ห้องที่ 3 สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จัดแสดงข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วย โบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี เช่น เครื่องมือหิน กลองมโหระทึก ภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ เครื่องใช้และเครื่องประดับสำริด รวมทั้งอาวุธที่ทำจากสำริดและเหล็ก ที่ผนังจะมีภาพเขียนสีจำลองจากแหล่งภาพเขียนสีผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งภาพเขียนสีที่สำคัญในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

ห้องที่ 4 วัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเจนละ(ขอมหรือเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร)
จัดแสดงโบราณวัตถุในวัฒนธรรมเจนละหรือวัฒนธรรมเขมรก่อนเมืองพระนคร และวัฒนธรรมทวารวดีอายุราว โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่สุด ได้แก่ อรรธนารีศวร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 พบในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประติมากรรมที่สลักรูปพระศิวะและพระอุมาผู้เป็นชายา รวมไว้เป็นองค์เดียวกัน ซึ่งทั้งสองต่างเป็นเทพที่เคารพนับถือในศาสนาฮินดู และยังมีเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมร พระพุทธรูปและใบเสมาหินทราย เป็นต้น

ห้องที่ 5 วัฒนธรรมขอมหรือเขมรสมัยเมืองพระนคร
จัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้รับอิทธิพลเขมรสมัยเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 เช่น พระคเณศศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์ ทับหลังแบบกำพงพระ ทับหลังแบบปาปวน ศิวลึงค์หินทราย และชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมจากโบราณสถานที่สำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ภาพสลักเทพนพเคราะห์จากปราสาทบ้านเบญ เป็นต้น

ห้องที่ 6 วัฒนธรรมไทย-ลาว
จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ในวัฒนธรรมไทย-ลาว ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23-25 โดยเน้นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ทั้งที่ทำจากไม้ สำริด และหินทรายลงรักปิดทอง โบราณวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะลาวหล่อด้วยสำริดที่ฐานมีจารึกสรุปได้ว่า เจ้าอนุวงศ์เป็นผู้ให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.2369 เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามมาก

ห้องที่ 7 ผ้าโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี
จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ประเภทผ้าทอโบราณและผ้าพื้นเมืองอุบลราชธานี เช่น ผ้านุ่งของสตรีชั้นสูง ผ้าฝ้าย และผ้าไหมทอลวดลายต่าง ๆ

ห้องที่ 8 ดนตรีพื้นเมือง
จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีพื้นเมือง โดยทำหุ่นจำลองนักดนตรีอิสานขนาดเท่าคนจริง กำลังบรรเลงเครื่องดนตรีแบบต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่ดัดแปลงมาจากวัสดุธรรมชาติ เครื่องดนตรีที่ใช้สายดีด เช่น พิณสอง พิณสาม เครื่องสายที่มีคันชัก เช่น ซอแบบต่างๆ เครื่องเคาะ เช่น โปงลาง หมากกั๊บแก๊บ

ห้องที่ 9 ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน
จัดแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องใช้ในครัวเรือนและเครื่องใช้พื้นบ้าน เช่น เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว พร้อมขั้นตอนการทำเครื่องทองเหลือง อาทิ เชี่ยนหมาก ผอบ ตะบันหมาก ขัน นอกจากนี้ยังมีเชี่ยนหมากไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของเชี่ยนหมากอีสาน จัดแสดงเครื่องมือจับสัตว์น้ำต่างๆ ทั้ง ลอบ ไซ แห ฯลฯ และเครื่องครัวที่ยังสามารถพบได้ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เช่น กระติบข้าว ก่องข้าว ครก หวดนึ่งข้าวเหนียว กระต่ายขูดมะพร้าว เป็นต้น

ห้องที่ 10 การปกครองและงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา
จัดแสดงเรื่องเกี่ยวกับการปกครองเมืองอุบลราชธานี ก่อนการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดแสดงภาพถ่ายของบุคคลสำคัญ เครื่องใช้ของเจ้าเมืองอุบลราชธานี และยังมีศิลปวัตถุที่น่าสนใจ เป็นงานประณีตศิลป์เนื่องในพุทธศาสนา ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ที่มีผู้ศรัทธาถวายเป็นพุทธบูชาตามวัดต่างๆ ในเมืองอุบลราชธานี เช่น ธรรมาสน์ หีบพระธรรม ภาพพระบฏ ตู้พระธรรม รางสรงน้ำ กากะเยีย เชิงเทียน คัมภีร์ใบลาน เป็นต้น






แผนที่


น้ำตกสร้อยสวรรค์

น้ำตกสร้อยสวรรค์

น้ำตกสร้อยสวรรค์ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ30เมตร เกิดจากลำน้ำห้วยสร้อยและแซไผ ซึ่งตกจากยอดเขาแล้วไหลมาบรรจบกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง มองดูลักษณะคล้ายสายสร้อย จึงได้ชื่อน้ำตกสร้อยสวรรค์ มองเห็นทิวทัศน์แม่น้ำโขง ผืนป่า หน้าผาหินได้ชัดเจน มีน้ำไหลตลอดปี ซึ่งสายน้ำจะซึ่มไหลเลียบเลาะลงระหว่างผาหิน มีแอ่งน้ำตื้นเล็กๆมากมายเรียงรายตามแนวทางไหลของสายน้ำ ที่บริเวณพลาญหินเป็นจุดชมดอกไม้ป่าหลากสีสันที่งดงามและมีต้นไม้สีเขียวสดละลานตาช่วยเสริมบรรยากาศให้ชุ่มชื่นน่าชม







แผนที่


แก่งสะพือ

แก่งสะพือ

แก่งสะพือ เป็นแก่งที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นแก่งที่อยู่ในแม่น้ำมูล ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร ห่างจากตัวจังหวัด อุบลราชธานีประมาณ 45 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 217แก่งสะพือเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า"ซำพืด"หรือ"ซำปื้ด" ซึ่งเป็นภาษา ส่วยที่แปลว่า งูใหญ่ หรืองูเหลือมแก่งสะพือ จะมีหินน้อยใหญ่สลับซับซ้อน กระแสน้ำไหลผ่านกระทบหิน แล้วเกิดเป็นฟองขาวมีเสียงดังตลอดเวลา ริมแก่งจะมีศาลาพักร้อนตั้งอยู่ สำหรับให้นักท่องเที่ยวนั่งชมทัศนียภาพของแก่ง ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม แก่งสะพือจะมีผู้นิยมไป เที่ยวกันมาก เพราะน้ำจะลดทำให้เห็นแก่งได้ชัดเจนและสวยงาม ส่วนในฤดูฝนน้ำจะท่วมแก่ง นอกจากนี้แล้วในเดือนเมษายนของทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร ก็ได้กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสืบทอดประเพณีอันดีงามไว้ ซึ่งในงานนี้ก็มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก





แผนที่

ช่องเม็ก

ช่องเม็ก


ด่านพรมแดนช่องเม็ก อ.สิรินธร อุบลราชธานี –แขวงจำปาสัก (ไปปากเซ ลาวใต้)  การค้าชายแดน คึกคักมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวซื้อของต้อนรับอาเซียน โดยมากเดินทางเป็นกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ และมาแบบครอบครัวเดินทางด้วยรถยนต์

ทำไมด่านผ่านแดนนี้จึงคึกคัก เพราะเป็นด่านแห่งเดียวที่จะไป แขวงจำปาสัก เที่ยว จ.ปากเซ ที่ห่างออกไปเพียง 38 กิโลเมตร ในประเทศลาวได้โดยรถยนต์  แขวงจำปาสักเป็นแขวงที่มีเศรษฐกิจสำคัญในลาว และจุดผ่านแดนช่องเม็กนี้เป็นด่านผ่านแดนแห่งเดียวที่ไม่มีแม่น้ำโขงขวางกั้นระหว่างไทย-ลาว

นอกจากนั้นตลาดสินค้าชายแดนร้านค้าปลอดภาษีในเขตประเทศลาว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมและจับจ่ายสินค้า ได้ สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในแขวงจำปาสัก ได้แก่ เมืองปากเซ ปราสาทขอมวัดพู มหานทีสีทันดอน หรือสีพันดอน ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงแผ่กว้างกว่า กิโลเมตร ทำให้มีเกาะแก่งจำนวนมาก และจุดที่น่าสนใจมากคือ น้ำตกหลี่ผี และน้ำตกคอนพะเพ็ง

การข้ามไปฝั่งลาวจะต้องมีบัตรผ่านแดนชั่วคราวซึ่งใช้เที่ยวในลาวได้ 3 วัน 2 คืนเท่านั้น (หากนักท่องเที่ยวมีพาสปอร์ตแล้ว ไม่ต้องทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว) โดยสามารถทำได้แถวๆ จุดตรวจคนเข้าเมือง ด่านเปิดทุกวัน 8.00-18.00 น. ค่าผ่านแดนคนละ 30 บาท เด็กไม่เสียเงิน แต่ต้องระบุในบัตรผ่านแดนชั่วคราวว่าเด็กนั้นเป็นผู้ติดตาม ใช้เวลาทำบัตรประมาณ 20 นาที  สำหรับรถยนต์ที่ต้องการข้ามไปฝั่งลาวต้องทำพาสปอร์ตรถแล้วจะได้สติกเกอร์รูปตัว T (Thailand) ก่อนจึงจะเข้าออกได้ สามารถทำได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลฯ ผู้ขับขี่จะต้องนำสำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และสำเนาใบเสียภาษีรถยนต์ ไปยื่นเรื่องขออนุญาตด้วย อาจใช้เวลานานมากประมาณครึ่งวันจึงจะเสร็จ

การเดินทางไปด่านผ่านแดนช่องเม็ก


จากตัวเมืองประมาณ 90 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 217 เป็นจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาว ที่มีถนนเชื่อมต่อสู่แขวงจำปาสัก

การเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศลาว


ผ่านด่านช่องเม็กนั้นในส่วนของชาวต่าง ประเทศจะต้องใช้หนังสือเดินทาง และทำวีซ่า สำหรับคนไทยทำใบอนุญาตผ่านแดน ที่สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานีหรือที่ว่าการอำเภอสิรินธรได้โดยใช้สำเนาบัตร ประชาชน และรูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป

ค่าใช้จ่ายฝั่งไทย

ค่าทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว คนละ 30 บาท

ค่าใช้จ่ายฝั่งลาว

ค่าเหยียบแผ่นดิน สปป.ลาว คนละ 20 บาท
ค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวลาว คนละ 400 บาท
ค่าธรรมเนียมรถ ค่าใช้ทาง คันละ 800 บาท
ค่าประกันภัยรถ ประมาณคันละ 300 – 500 บาท

ค่าใช้จ่ายขากลับ

หากเกิน 16.00 น. ต้องเสียค่าล่วงเวลาที่ ตม.ฝั่งลาว คนละ 150 บาท ส่วนฝั่งไทย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ




แผนที่


พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ


วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (วัดใต้เทิง) หรือวัดใต้ เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีเนื้อที่ตั้งวัด 9 ไร่ 40 – 3 – 10 วา อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล ทางด้านทิศตะวันออก สถานที่ใกล้เคียง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาค 2 อุบลราชธานี และโรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล
 ความหมายชื่อวัดใต้ (วัดใต้เทิง วัดใต้ท่า) เรื่องเดิมนั้นวัดใต้มีอยู่ 2 วัด คือวัดใต้ท่า (วัดร้าง) ตั้งอยู่ริมน้ำมูล หมายถึงวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ติดกับแม่น้ำมูล ภาษาอีสานเรียกว่า “ท่าน้ำ” หมายถึงทางลงแม่น้ำ จึงรียกว่าวัดใต้ท่า คำว่า ใต้ท่า หมายถึง วัดที่ อยู่ใกล้ทางลงแม่น้ำมูล หรือข้างล่าง อยู่ทางทิศใต้ท่าน้ำ, (คำว่าเทิง เป็นสำเนียงภาษาพื้นบ้านทางภาคอีสาน โดยมีความหมายว่า ที่สูง ข้างบนหรืออยู่สูง อยู่เหนือขึ้นไป ดังนั้น วัดใต้เทิง จึงมีความหมายว่า วัดที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไป ถัดขึ้นไปจากวัดใต้ท่าที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล เดิมทีเดียวคงจะชื่อวัดใต้เทิงเพียงสั้นๆ ต่อมาเพื่อให้สื่อความหมายถึงพระประธานในอุโบสถพระนามว่าพระเจ้าองค์ตื้อ จึงได้นำพระนามของพระพุทธรูปมาต่อกับชื่อวัด กลายเป็นวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

 วัดใต้เทิง ได้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2322 และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2441 โดยมีท้าวสิทธิสาร กับ เพี้ยเมืองแสนและราษฎร ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นวิสูงคามสีมา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ 103/378 (ตราประทับอักษรขอม) ว่า ซึ่งมีพระบรมราชโองการ ประกาศไว้แก่คนทั้งปวงว่า “ที่เขตอุโบสถวัดใต้แขวงเมืองอุบลราชธานี โดยยาว 12 วา 1 ศอก กว้าง 7 วา 1 ศอก ท้าวสิทธิสารกับเพี้ยเมืองแสนและราษฎรได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นวิสุงคามสีมา พระเจ้าทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้กรรมการปักคำกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศนั้นให้เป็นที่วิสุงคามสีมา ยกเป็นแผนกหนึ่งตากหาก จากพระราชอาณาเขต เป็นที่เศษสำหรับพระสงฆ์มาจากทิศทั้งสี่ ทำสังฆกรรม มีอุโบสถกรรม เป็นต้น ประกาศพระราชมานตั้งแต่ วันที่ 29 พฤศจิกายน รศ.117 พระพุทธศาสนกาล 2441 พรรษา เป็นวันที่ 10976 ในรัชกาลปัจจุบัน”

 เมื่อ พ.ศ.2509-2519 ได้ก่อสร้างโบสถ์และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 5 ลำดับที่ 49 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอน 196 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2522 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522 กำหนดเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2522

 พระพุทธประธานในพระอุโบสถนามว่า พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ได้รับการยกย่องมาว่า เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามในประเทศไทยและภาคอีสานเป็นพระประธานองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตามประวัติในประเทศไทย มีอยู่ 5 องค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครเวียงจันทร์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่ายๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมัยปู่ย่าตาทวดได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า "... พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี..."

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 ครั้งนั้นพระภิกษุสวัสดิ์ ทสฺสนีโย ปัจจุบัน เป็นราชาคณะชั้นราช ที่พระราชธรรมโกศล เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ รูปที่ 13 ปัจจุบันและเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธ) ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น นำพระภิกษุ-สามเณร ทายก-ทายิกา และชาวบ้านชุมชนใกล้กวัด ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้ รวมอายุองค์พระประมาณ 225 ปี

 หมายเหตุ ความหมายคำว่า “ตื้อ” เป็นจำนวนนับของชาวล้านนา หรือภาคอีสาน เช่น หลักหน่วย-สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน-โกฏิ-ตื้อ-อสงไขย นับไปไม่ได้ชาวพุทธได้นำทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ จำนวนมากหล่อเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม จนหาค่าประมาณมิได้ องค์พระหนักเก้าแสนบาทบนจึงได้ชื่อว่า “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” หรือ (พระเจ้าแสนตื้อ)






แผนที่


วัดถ้ำคูหาสวรรค์

 วัดถ้ำคูหาสวรรค์

วัดถ้ำคูหาสวรรค์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งโดย "หลวงปู่คำคนิง จุลมณี" ซึ่งใช้เป็นที่ ปฏิบัติธรรมจำพรรษาปัจจุบันท่านได้มรณภาพแล้ว แต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อยบรรดาลูกศิษย์ได้เก็บร่างของท่าน ไว้ในโลงแก้วเพื่อบูชา ยังคงถือโอกาส ชมทิวทัศน์แม่น้ำโขงและแม่น้ำสองสี ตลอดจนทิวทัศน์ของฝั่งประเทศตรงข้ามได้อย่างชัดเจน อันเนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งของวัดตั้งอยู่บนที่ราบสูง ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลไหลรวมกัน กลายเป็นแม่น้ำสองสี อย่างสวยงาม รวมทั้งทิวทัศน์ ตัวอำเภอโขงเจียม ภายในบริเวณวัดถ้ำคูหาสวรรค์มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างเช่น พระอุโบสถหลังงามสีขาวแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจงสวยงาม ดึงดูดให้เหล่านักท่องเที่ยวแวะเข้าเยี่ยมชมที่นี่อย่างมากมาย นอกจากนี้ภายในวัดถ้ำคูหาสวรรค์ ยังมีพระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิ ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูปปางสมาธิที่สวยงาม สวนตอไม้โดยรอบภายในบริเวณวัดเป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเพราะที่วัดแห่งนี้เป็นศูนย์อนุรักษ์กล้วยไม้ไทย ตอไม้ที่ท่านสังเกตเห็นนั้นหากมองอย่างละเอียดแล้วล่ะก็ จะเห็นดอกกล้วยไม้ที่สวยงามน่ารักหลากหลายพันธุ์และสี แต่อย่าเดินชมดอกกล้วยไม้ กันเพลิน เพราะยังมี ถ้ำคูหาสวรรค์ ที่อยู่บริเวณด้านหลังวัดให้ทุกท่านไปสำรวจ ถ้ำคูหาสวรรค์ เป็นถ้ำที่เดินไปได้สะดวก ไม่ลึก ภายในถ้ำเป็น ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มากมายหลายองค์ ด้านในถ้ำเป็นที่ตั้งของโลงแก้วที่บรรจุสรีระที่ไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่คำคนิง จุลมณี พระนักวิปัสสนาที่มีชื่อเสียง

การเดินทางไปวัดถ้ำคูหาสวรรค์

จากอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มาตามเส้นทางหลวงภายเลขเข้าสู่ตัวอำเภอวารินชำราบ ออกจากอำเภอวารินชำราบด้วยเส้นทางหลวง หมายเลข 217 มุ่งไปอำเภอพิบูลมังสาหาร เมื่อผ่านตัวอำเภอจะพบทางแยกซ้ายมุ่งข้ามสะพานพิบูลมังสาหาร เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข2222 ก่อนถึงตัว อำเภอโขงเจียมจะพบวัดถ้ำคูหาสวรรค์อยู่ติดริม





แผนที่



วัดถ้ำเหวสินธุ์ชัย

วัดถ้ำเหวสินธุ์ชัย


ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2222 ก่อนถึงโขงเจียมประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าไปตามทางเข้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะฝั่งซ้ายประมาณ 200 เมตร บริเวณถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์บรรยากาศสงบเงียบ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมนักท่องเที่ยวควรใช้ความสงบในการเยี่ยมชม รอบๆ วัดมีก้อนหินขนาดใหญ่เรียงรายอยู่มากมาย มีต้นไม้และดอกไม้ตามฤดูกาลสวยงาม นอกจากนี้ยังมีน้ำตกไหลจากหน้าผาด้านบนผ่านลงมาบริเวณด้านหน้าพระนอนก่อนที่จะตกลงสู่หุบเหวเบื้องล่างสร้างบรรยากาศให้ร่มเย็น จะมีน้ำมากในช่วงปลายฤดูฝน น้ำตกแห่งนี้เรียกว่าน้ำตกถ้ำเหวสินธุ์ชัย บริเวณเหนือถ้ำยังมีทุ่งดอกหญ้าที่มีความสวยงามหลายชนิด





แผนที่

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

จังหวัดอุบลราชธานี


จังหวัดอุบลราชธานี

สัญลักษณ์ประจำจังหวัด

คำขวัญประจำจังหวัด : เมืองดอกบัวบาน แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราชใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์
ตราประจำจังหวัด : รูปดอกบัวบานชูช่อพ้นน้ำ
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นยางนา (Dipterocarpus alatus)
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกบัว
สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลาเทโพหรือปลาปึ่ง (Pangasius larnaudii)

ประวัติเมืองอุบลราชธานี

 ตำนานเมืองอุบล ได้กล่าวกันถึงการสืบเชื้อสายจากเจ้านครเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ของเจ้าปางคำ พระบิดา ของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ โดยกล่าวถึง ปี พ.ศ.2228 เกิดวิกฤตทางการเมือง ในนครเชียงรุ้ง เนื่องจาก จีนฮ่อหัวขาว หรือฮ่อธงขาว ยกกำลัง เข้าปล้นเมืองเชียงรุ้ง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี เจ้าปางคำ อพยพไพร่พล จากเมืองเชียงรุ้ง มาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็น พระประยูรญาติ ทางฝ่ายมารดา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่ เมืองหนองบัวลุ่มภู เมือง หนองบัวลุ่มภู จึงอยู่ในฐานะ พิเศษ คือไม่ต้อง ส่งส่วย บรรณาการ มีสิทธิสะสม ไพร่พล อย่างเสรีเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับ เวียงจันทน์ มีชื่อว่า "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" สันนิษฐานว่า น่าจะมีฐานะ เป็นเมืองลูกหลวง ต่อมา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้ เจ้าอินทกุมาร เสกสมรส กับ พระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ได้โอรส คือ เจ้าคำ หรือเจ้าองค์นก ให้เจ้า นางจันทกุมารี เสกสมรสกับ พระอุปยุวราช ได้โอรส คือ เจ้ากิงกีศราช และ เจ้าอินทโสม ซึ่งต่อมา คือบรรพบุรุษของ เจ้านายหลวงพระบาง ส่วนเจ้าปางคำ ให้เสกสมรสกับ พระราชนัดดา ได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอ สันนิษฐานว่า ทั้งสองท่านเป็นเสนาบดี กรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่สมัย พระไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (ชัยวงค์เว้) พระอัยกาของ พระเจ้า สิริบุญสาร การดำรงฐานะเป็น เจ้านายเชื้อสายพระราชวงศ์ ของพระเจ้าวอ พระเจ้าตา เห็นได้จากหลักฐาน หลายประการ อาทิ การที่หนองบัว ลุ่มภู เป็นเมือง ใหญ่ มีไพร่พลมาก ดังปรากฎเมืองหน้าด่านทั้งสี่ คือ เมืองภูเขียว ภูเวียง เมืองผ้าขาว เมืองพันนา และ การที่ เมืองอุบล ดำรง ฐานะเป็น เจ้าประเทศราชเมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์ ไทย ต่างจากเมืองเขมร ป่าดงอื่นๆ และเมื่อกำเนิด พ.ร.บ. นามสกุล โปรด พระราชทานนามสกุล "ณ อุบล" อันหมายถึง เชื้อสายเจ้านาย อุบลราชธานี แต่โบราณ เมื่อเจ้านายอุบล ถึงแก่อสัญกรรม ก็มี ประเพณี การทำศพแบบนกหัสดีลิงค์ อันสืบมาจากนครเชียงรุ้ง ในเชียงใหม่ ก็ปรากฎการ ทำศพแบบนกหัสดีลิงค์เช่นเดียวกัน

            การตั้งเมืองอุบลราชธานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านเมือง ค่อนข้างสงบก็ทรงมี นโยบายที่จะ จัดตั้งเมือง ให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรวบรวมไพร่พลให้เป็นปึกแผ่น เพื่อความสงบสุข สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึง เรื่องนี้ว่า  "…รัชกาล ที่ 1 ถึงรัชการที่ 3 ให้เจ้าเมืองร้าง เที่ยวเกลี้ยกล่อมหา ผู้คนมาเป็นพลเมือง โดย ไม่ต้องใช้อำนาจ อาจทำได้ด้วยยินดีด้วยกัน ทุกฝ่ายก็สำเร็จ ประโยชน์ ถึงความมุ่งหมาย เจ้าเมืองไหนเกลี้ยกล่อมคนมาได้มาก ก็ได้ทรัพย์เศษส่วน และได้ผู้คนสำหรับอาศัยใช้สอยมากขึ้น ก็เต็มใจขวนขวาย ตั้งบ้านเมือง ฝ่ายราษฎรที่ไปเที่ยวหลบลี้ เดือดร้อนลำบากมากอยู่ เมื่อรู้ว่า บ้านเมืองเรียบร้อยอย่างเดิม ก็ยินดีที่จะกลับมา โดยมาก……" คงจะเป็น เพื่อสนองตอบ พระบรมราโชบาย ในการตั้งเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเพื่อความอุดมสมบูรณ์ในการประกอบอาชีพของ ไพร่บ้านพลเมือง "….ในปี พ.ศ.2329 ( จุลศักราช 1148 ปีมะเมีย นพศก) พระประทุมจึงย้ายครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่ ณ ตำบลแจระแม ตือตำบล ที่ตั้ง อยู่ทาง ทิศเหนือ เมืองอุบลปัจจุบัน….."

             สถาปนาเมืองอุบลราชธานี พ.ศ.2335 พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) ได้พาพรรคพวกไพร่พลตั้งอยู่ที่ ตำบลห้วยแจระแม (บริเวณบ้าน ท่าบ่อ ในปัจจุบัน) ด้วยความปกติสุขเป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ.2334 (จุลศักราช 1153 ตรีศก) อ้ายเชียงแก้ว ซึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ตำบลเขาโองแขวง เมืองโขง คิดการกบฎ พาพรรคพวก ไพร่พลเข้ายึดนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้าเมืองซึ่งกำลังป่วยอยู่ก็มี อาการป่วยทรุดหนัก และถึงแก่พิราลัย อ้ายเชียงแก้วจึงยึดเมือง นครจำปาศักดิ์ไว้ได้ ความทราบ ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) เมื่อครั้งเป็น พระพรหม ยกกระบัตร ยกกองทัพเมืองนครราชสีมามาปราบกบฎอ้ายเชียงแก้ว อย่างไรก็ดีขณะที่กองทัพนครราชสีมายกมาไม่ถึงนั้น พระประทุมสุรราช (ท้าวคำผง) และท้าวฝ่ายหน้า ผู้น้อง ที่ตั้งอยู่บ้านสิงห์ท่า (เมืองยโสธร) ได้ยกกำลังไปรบอ้ายเชียงแก้วก่อน ทั้งสองฝ่าย ได้สู้รบกันที่บริเวณ แก่งตะนะ (อยู่ในท้องที่ อำเภอโขงเจียม) กองกำลัง อ้ายเชียงแก้วแตกพ่ายไป อ้ายเชียงแก้วถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต เมื่อกองทัพ เมืองนครราชสีมายกมาถึงเมืองจำปาศักดิ์ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยแล้ว จึงพากันยกกองทัพ ไปตีพวกข่า "ชาติกระเสงสวาง จะรายระแดร์" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง จับพวกข่าเป็นเชลย ได้เป็นจำนวนมาก จากความ ดีความชอบในการปราบปรามกบฎอ้ายเชียงแก้วนี้เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช จึงได้ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ท้าวฝ่ายหน้าเป็น พระวิไชยราชขัตติยวงศา ครองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระประทุม สุรราช เป็นพระประทุม วรราชสุริยวงศ์ ครอง เมืองอุบลราชธานี พร้อมกับยกฐานะบ้านห้วยแจระแมขึ้นเป็นเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 (พ.ศ.2335) ดังปรากฎ ในพระสุพรรณบัตรตั้ง เจ้าประเทศราชในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่า "….ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ผ่าน พิภพกรุงเทพ มหานครศรีอยุธยา มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ตั้งให้ พระประทุม เป็นพระประทุมวรราช สุริยวงศ์ ครองเมือง อุบลราชธานี ศรีวนาไลยประเทศราช เศกให้ ณ วัน 2 แรม 13 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1154 ปีจัตวาศก..."


เจ้าเมืองอุบลราชธานีในอดีต ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมีจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่านดังนี้


1. พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2335-2338) นามเดิม ท้าวคำผง บุตรเจ้าพระตา เป็นบุคคลสำคัญ ในการสร้างบ้าน แปงเมืองอุบล โปรดให้สร้างคู ประตูเมือง หอโฮงเจ้านายต่างๆ สร้างวัดหลวง และเสนาสนะ อาทิ สิม อาฮาม หอระฆัง พระพุทธรูป สิ่งก่อสร้าง ล้วนเลียนแบบ ศิลปแบบหลวงพระบาง


2. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (พ.ศ.2338-2388) นามเดิม พรหม น้องชายพระประทุม (คำผง) เป็นบุตรชาย คนเล็กของ เจ้าพระตา เป็นผู้ก่อสร้างวัด ป่าหลวง (วัดป่าหลวงมณีโชติ) นำไพร่พลผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูป องค์ใหญ่ก่ออิฐถือปูน เป็นที่ เคารพสักการะของชาวอุบลฯ มีชื่อว่า พระเจ้าใหญ่ อินทร์แปลง ปัจจุบัน เป็นพระประธาน ในวิหารวัดมหาวนาราม


3. พระพรหมราชวงศา (พ.ศ.2388-2409) นามเดิม กุทอง สุวรรณกูฏ บุตรพระพรหม (ทิดพรหม) ในสมัยของท่าน ธรรมยุติกนิกาย แพร่หลายในเมือง อุบลฯ เพื่อสนองพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สร้างวัดสุปัฏนาราม และบรรดา อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ร่วมกัน สร้างวัดศรีทอง (ศรีอุบลรัตนาราม) วัดสุทัศน์ ซึ่งเหตุการณ์สำคัญในสมัยนี้คือการเข้าร่วมสงคราม ขับไล่ญวน


4. เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (พ.ศ.2409-2425) เจ้าพรหมเทวา (เจ้าหน่อคำ) เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดา ด้วงคำใน รัชกาลที่ 4 เจ้าราชวงศ์ จำปาศักดิ์ บุตรเจ้าเสือหลานเจ้าอนุวงศ์ ในสมัยของท่านได้สร้างวัดไชยมงคล ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตที่สี่ ในจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งที่พึงสังเกต คือ ความขัดแย้งระหว่าง เจ้าเมืองอุปฮาด ราชวงศ์ รุนแรง เนื่องจากฝ่ายเจ้านายอุบลฯ ไม่พอใจที่ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าหน่อคำเป็นเจ้าเมือง ในสมัยนั้นจึง เกิดการทะเลาะ วิวาทขัดแย้งกัน กลั่นแกล้งกันอยู่เสมอ ท้ายที่สุด ราวปี พ.ศ.2412 เกิดกรณี เมืองไซแง ได้เกิดความบาดหมาง ทวีความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างเกล่าโทษ ซึ่งกัน และกัน เจ้าพรหม กล่าวหาว่า อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ขัดขวางไม่ให้เก็บเงินส่วย จากไพร่ ข้างฝ่ายอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ก็กล่าวหาว่า เจ้าพรหม ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งสองฝ่ายจึงลงมา สู้ความกันที่กรุงเทพฯ จนพากันถึงแก่อสัญกรรม ต่างฝ่ายต่างสูญเสียทรัพย์สินส่วนตัวเป็นจำนวนมาก พ.ศ. 2418 เกิดศึกฮ่อ เจ้าพรหมเทวาถูกเกณฑ์ไปราชการทัพฮ่อ หลังศึกฮ่อได้อัญเชิญพระพุทธรูป 2 องค์ คือ พระทองทิพย์ และพระทอง ประดิษฐาน ที่วัดศรีทอง และวัดไชยมงคล


พ.ศ. 2422 กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านท่ายักขุ เป็นเมืองชานุมานมณฑล บ้านพระเหลา เป็นเมืองพนานิคม ให้เมืองทั้งสอง ขึ้นกับเมือง อุบลราชธานี พบหลักฐาน เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง องค์ที่ 3 คือ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) กล่าวถึงเครื่องยศ ที่ทางกรุงเทพฯ พระราชทานแก่ เจ้าเมืองอุบลฯ ประกอบด้วย


การแต่งตั้งเจ้าเมืองสมัยโบราณ พบหลักฐาน เอกสารการแต่งตั้งเจ้าเมือง องค์ที่ 3 คือ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) กล่าวถึงเครื่องยศ ที่ทางกรุงเทพฯ พระราชทานแก่ เจ้าเมืองอุบลฯ ประกอบด้วย พานถมเครื่องในทองคำ 1 สำรับ
เครื่องยศเจ้าเมืองอุบลฯ สมัยโบราณ

คนโททองคำ 1 ใบ
กระโถนถม 1 ใบ
ลูกประคำทองคำ 1 สาย
กระบี่บั้งถม 1 อัน
เสื้อหมวกตุ้มปี 1 ชุด
สัปทนปัสตู 1 ชุด
ปืนคาบศิลาคอลาย 1 กระบอก
เสื้อเข้มขาบริ้วเลื้อย 1 ตัว
ส่านไทยปักทอง 1 ชุด
ผ้าปู 1 ผืน


 มีพระบรมราชโองการ ให้เจ้าเมืองปกครองราษฎร ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ดังความว่า "...ให้โอบอ้อมอารีต่ออาณาประชาราษฎร์ อย่าเบียดเบียน ข่มเหงไพร่บ้านพลเมือง ปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ทำนุบำรุงพระสงฆ์ สามเณรให้ปฏิบัติเล่าเรืยนคันถธุระ วิปัสสนาธุระ กำชับ กำชาไพร่บ้านพลเมือง อย่าให้สูบฝิ่น ซื้อฝิ่น กินฝิ่น ให้กระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง...

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดอำนาจเจริญและประเทศลาว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงจำปาศักดิ์ (ประเทศลาว) โดยพรมแดนบางช่วงใช้แม่น้ำโขงเป็นตัวกำหนด
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร (ประเทศกัมพูชา)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดยโสธร แนวพรมแดนติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา รวมความยาวประมาณ 428 กิโลเมตร

ติดต่อกับประเทศลาว 361 กิโลเมตร (จากอำเภอเขมราฐถึงอำเภอน้ำยืน ติดต่อกับแขวงสุวรรณเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาศักดิ์)
ติดต่อกับประเทศกัมพูชา 67 กิโลเมตร (อำเภอน้ำยืน ติดต่อกับจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา)

ทรัพยากรโดยสังเขป

ทรัพยากร ดิน จ.อุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีประชากรมาก ดินเป็นทรัพยากรคิด เป็นร้อยละ 86.6 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด หรือประมาณ 10,299,063 ไร่ ด้านป่าไม้มีทั้งป่าเต็งรัง หรือป่าแดงมีอยู่ทั่วไป มีเขตป่าดงดิบในเขตอำเภอน้ำยืน และป่าผสม ส่วนป่าเบญจพรรณมีอยู่ในอำเภอเขมราฐ อำเภอบุณฑริก และอำเภอพิบูลมังสาหาร ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้กระยาเลย ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตระแบก ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้เคี่ยม ไม้ชุมแพรก ไม้กันเกรา สภาพพื้นที่ป่าไม้จากการสำรวจเมื่อปี 2538 มีเนื้อป่าประมาณ 2,495 ตร.กม. หรือประมาณ 1.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.49 ของเนื้อที่ทั้งหมดของจังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดอุบลราชธานี แบ่งได้ดังนี้ ป่าถาวร ตามมติ ครม.จำนวน 1 ป่า เนื้อที่ 77,312.50 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 46 ป่า เนื้อที่ 3,396,009.163 ไร่ พื้นที่ป่า สปก. จำนวน 40 ป่า เนื้อที่ 1,665,543.30 ไร่ ป่าอนุรักษ์ ตาม มติ ครม. จำนวน 10 ป่า เนื้อที่ 1,439,998.402 ไร่ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย จำนวน 5 ป่า เนื้อที่ 880,220.00 ไร่ สวนป่า จำนวน 15 ป่า เนื้อที่ 20,985.73 ไร่ พื้นที่ป่าธรรมชาติ (รวม จ.อำนาจเจริญ) เนื้อที่ 24,292,656 ไร่

แร่ธาตุ จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีแร่อโลหะเพียงชนิดเดียว คือ เกลือหิน ซึ่งเจาะพบแล้ว 2 แห่งคือ อำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอตระการพืชผล นอกจากนี้ มีทรัพยากรแร่ที่อยู่ในรูปของหินชนิดต่าง ๆ อีกมากมาย สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำโดมน้อย

การแบ่งเขตการปกครอง

การปกครองส่วนภูมิภาค
จังหวัดอุบลราชธานีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ 219 ตำบล 2469 หมู่บ้าน ได้แก่

1. อำเภอเมืองอุบลราชธานี
2. อำเภอศรีเมืองใหม่
3. อำเภอโขงเจียม
4. อำเภอเขื่องใน
5. อำเภอเขมราฐ
6. อำเภอเดชอุดม
7. อำเภอนาจะหลวย
8. อำเภอน้ำยืน
9. อำเภอบุณฑริก
10. อำเภอตระการพืชผล
11. อำเภอกุดข้าวปุ้น
12. อำเภอม่วงสามสิบ
13. อำเภอวารินชำราบ
14. อำเภอพิบูลมังสาหาร
15. อำเภอตาลสุม
16. อำเภอโพธิ์ไทร
17. อำเภอสำโรง
18. อำเภอดอนมดแดง
19. อำเภอสิรินธร
20. อำเภอทุ่งศรีอุดม
21. อำเภอนาเยีย
22. อำเภอนาตาล
23. อำเภอเหล่าเสือโก้ก
24. อำเภอสว่างวีระวงศ์
25. อำเภอน้ำขุ่น

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดยโสธร









แผนที่