วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

แม่น้ำสองสี


แม่น้ำสองสี


แม่น้ำสองสี หมายถึง แม่น้ำที่มีสีของน้ำที่แบ่งได้เป็นสองสี กล่าวคือ เป็นสีของน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ซึ่งไหลมาบรรจบกัน บริเวณดอนด่านหรือปากมูล ทำให้น้ำบริเวณนั้นมีสีแตกต่างกันและจะผสมกลมกลืนเป็นสีเดียวกัน ไหลตามลำน้ำโขงลงสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป จะเห็นได้ชัดเจนช่วงเดือนเมษายน

ลักษณะของสีน้ำในลำน้ำมูลจะมีสีใสคล้ายสีคราม และลักษณะของสีน้ำในแม่น้ำโขงจะมีสีเข้มคล้ายสีปูน เนื่องจากมีการสะสมของฝุ่นตะกอนมาก มีชื่อเรียกติดปากว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” ในบริเวณที่แม่น้ำทั้งสองไหลลงมาบรรจบกันจะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งหินยื่นไปในแม่น้ำ เรียกว่า ดอนด่าน เป็นธรรมชาติที่สวยงาม ในฤดูแล้งสามารถเดินเท้าจากฝั่งแม่น้ำไปตามโขดและแก่งหินได้

แม่น้ำสองสี ดอนด่าน และปากมูล อยู่บริเวณหลังวัดโขงเจียม ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 800 เมตร

แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลผ่านหรือเป็นเส้นกั้นพรหมแดนประเทศน้อยใหญ่มากถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขงนั้นมีสามเหลี่ยมดินดอนที่มีความหลากหลายทางชีววิทยาและธรณีวิทยาอย่างยิ่ง อีกทั้งตลอดเส้นทางของแม่น้ำโขงยังมีพันธ์ุปลานับพันชนิด โดยเฉพาะปลาบึกซึ่งพบได้เพียงเฉพาะแม่น้ำสายนี้เท่านั้น จึงเป็นแม่น้ำที่สำคัญอย่างยิ่ง ความยาวของแม่น้ำโขงวัดแล้วยาวราว 4,900 กิโลเมตร ติดอันดับ 10 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก

แม่น้ำโขงจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานีด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ประมาณ 130 กิโลเมตร โดยผ่านอำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และจุดสุดท้ายที่บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม 

มีตำนานของชาวไทยกับลาว ได้เล่าขานมาว่าแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินแห่งประเทศพม่ามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน แต่ถึงคราวแยกจากเพราะพญานาคสองตนทะเลาะกัน หนึ่งตนเลือกเส้นทางใกล้กว่าแต่ผ่านหุบเขาผืนป่ารกทึบไร้ผู้คนเพื่อมุ่งหน้าสู่ท้องทะเลกลายเป็นแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ตนหนึ่งเลือกเดินทางไกลผ่านที่ราบดินแดนของผู้คนหลากหลายอารยธรรม สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ซึ่งก็คือแม่น้ำโขง

แม่น้ำมูล เป็นแม่น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาในจังหวัดนครราชสีมา มีความยาว 640 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำ 69,701 ตารางกิโลเมตร แต่เดิมนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้คำสะกด "มูน" ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึง สิ่งมีค่าน่าหวงแหน เป็นมรดกของบรรพบุรุษสั่งสมเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่ทางราชการได้กำหนดภาษาราชการตามเสียงเรียก โดยสะกด "มูล" ด้วย ล

แม่น้ำมูลไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเป็นระยะทางยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ที่อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ กิ่งอำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร ไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริวเณดอนด่านหรือปากมูล อำเภอโขงเจียม มีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยปีละ 24,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 760 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประชาชนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูลในการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่



แผนที่


วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทุ่งศรีเมือง

ทุ่งศรีเมือง

ทุ่งศรีเมือง เดิมชื่อ "นาทุ่งศรีเมือง" เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมืองอุบลราชธานี และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ของเจ้าเมืองและเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญของจังหวัด และเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล) ประกอบด้วยคูเมืองเป็นน้ำล้อมลอบ มีประตูทางเข้า 4 ทิศ 4 ประตู ซึ่งตั้งชื่อตามนามของเจ้านายพื้นเมือง คือ

อุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล )
อุบลศักดิ์ประชาบาล
อุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์)
อุบลกิจประชากร



แก่งตะนะ


อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 33 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 50,000 ไร่ หรือ 80 ตารางกิโลเมตร โดยครอบคลุมท้องที่อำเภอโขงเจียม และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นที่ราบและเนินเขาเตี้ยๆ โดยมียอดเขาบรรทัดเป็นจุดสูงสุด ความสูงประมาณ 543 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่านตามแนวเขตทางด้านทิศเหนือไปออกประเทศลาว บริเวณแก่งตะนะจะมีสายน้ำที่ไหลเชี่ยวและลึก อีกทั้งยังมีถ้ำใต้น้ำหลายแห่ง จึงทำให้มีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม ตรงกลางมีโขดหินขนาดใหญ่เป็นเกาะกลางน้ำ

คำว่า “ตะนะ” ตามคำเล่าขานของชาวบ้านเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “มรณะ” เนื่องจากบริเวณแก่งตะนะนี้มีกระแสน้ำไหลที่เชี่ยวกราก และมีโขดหินใหญ่น้อยอยู่ทั่วไป ตลอดจนมีถ้ำใต้น้ำอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านที่สัญจรทางน้ำหรือออกจับปลา มักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกแก่งนี้ว่า “แก่งมรณะ” ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า “แก่งตะนะ”

สภาพพื้นที่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และเนินเขาเตี้ยๆ มีแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงไหลผ่าน มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาบรรทัด สูงประมาณ 543 เมตร ทำให้มีลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตลมมรสุม แต่เนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำสำคัญสายใหญ่ 2 สาย อากาศจึงแตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไป คือ ฤดูร้อน อากาศจะไม่ร้อนจนเกินไป ฤดูหนาว ไม่หนาวจัด ส่วนฤดูฝน ฝนตกค่อนข้างชุก สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ในฤดูฝนและฤดูหนาวจะมีผู้มาเที่ยวชมแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง และน้ำตกต่างๆ ส่วนในปลายฤดูหนาวและฤดูร้อน นิยมมาเที่ยวชมแก่งต่างๆ ในลำน้ำมูลแทน

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของอุทยานมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ที่คุณไม่ควรพลาดคือการได้มาชมถ้ำพระ หรือถ้ำภูหมาใน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นชะง่อนผายื่นเข้าไปในฝั่งแม่น้ำมูล ภายในถ้ำมีการค้นพบศิลาจารึกและแท่นศิวลึงค์ ส่วนของฐานโยนีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งตรงกับช่วงสมัยพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) ส่วนศิลาจารึกของจริงได้มีการนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอุบลราชธานี ส่วนที่เที่ยวทางธรรมชาติมีทั้งน้ำตกและแก่งหินในลำน้ำในแม่น้ำมูล ที่คุณไม่ควรพลาดคือการมาเที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำและชมวิวที่แก่งตะนะ ซึ่งลักษณะของแก่งเกิดจากดอนตะนะที่แบ่งสายน้ำมูลออกเป็นสองสาย ก่อนจะไหลโอบดอนมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง บริเวณนี้มีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากและแก่งหินใต้น้ำ จึงทำให้ปลาบริเวณแก่งตะนะชุกชุม

นอกจากนี้ทางอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะยังได้จัดทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไว้สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อเดินศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง เส้นทางแรกเริ่มต้นจากแก่งตะนะไปยังลานผาผึ้ง และเส้นทางที่สองที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือจากแก่งตะนะไปดอนตะนะ ซึ่งด้านบนของดอนจะมีหาดทรายในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้งให้ลงเล่น ด้วยสิ่งที่ทำให้ดอนตะนะดูโดดเด่นคือสะพานแขวนลวดสลิงขนาดใหญ่ที่แขวนเชื่อมจากฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นจุดชมวิวลำน้ำมูลและวิวแก่งได้อย่างสวยงามอีกด้วย ส่วนที่ลานผาผึ้งนั้นเป็น พลาญหินทรายและหน้าผาชันที่มีวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม มองเห็นภูมิทัศน์ได้กว้างไกลถึงประเทศลาวเลยทีเดียว

ส่วนใครที่ชอบการเที่ยวน้ำตก ที่นี่มีน้ำตกตาดโตนให้คุณได้เที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำได้ด้วย เป็นน้ำตกที่เดินทางสะดวกเพราะตั้งอยู่ริมถนน ต้นน้ำเกิดจากลำห้วยตาดโตน ไหลผ่านลำธารหินที่ยุบตัวลงเกิดเป็นน้ำตกชั้นไม่สูงนัก แต่มีสายน้ำที่สวยงามในช่วงฤดูฝน มีจุดให้คุณได้ลงเล่นน้ำได้ทั้งด้านบนน้ำตกและแอ่งน้ำด้านล่าง ช่วงเวลาท่องเที่ยวน้ำตกตาดโตนคือตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม

นอกจากนี้ยังมีน้ำตกที่น่าเทียวอีก 2-3 แห่ง แม้ว่าจะเป็นน้ำตกเล็กๆ แต่ก็ทำให้คุณเพลิดเพลินได้ไม่น้อย เช่น น้ำตกและบึงห้วยหมาก น้ำตกห้วยกว้าง และน้ำตกรากไทร





แผนที่


สวนเสือตระการ


สวนเสือตระการ


สวนสัตว์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆที่นักท่องเที่ยวเลือกไปในวันหยุด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางกันเป็นครอบครัว เด็กๆมักจะอยากไปสวนสัตว์ เพื่อไปชมสัตว์นานาชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และที่ภาคอีสาน มีสวนสัตว์ขึ้นชื่อที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีคือ สวนเสือตระการ อุบล ฟังชื่อแค่นี้ก็รู้ได้แล้วว่า สัตว์ที่นักท่องเที่ยวตั้งใจไปดูมากที่สุดก็คือ “เสือ” ที่นี่เสือจะเยอะ นักท่องเที่ยวมักจะพาลูกหลานมาดู ทำให้มีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันนี้

ที่สวนเสือตระการ ไฮไลท์เด็ดเมื่อมาที่นี่ก็คือ จะได้พบกับเสือจำนวนมาก เรียกได้ว่าเดินเข้ามาท่ามกลางดงเสือเลยทีเดียว ใครที่ชื่นชอบเสือ ทั้งร่างกาย และลวดลายที่สวยงาม อยากชื่นชมใกล้ๆ ที่สวนเสือตระการ มีบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเสือได้ด้วยความปลอดภัย มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดีเยี่ยม นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปกับลูกเสือตัวเล็กๆได้ แต่ต้องทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สวนเสือด้วย เพื่อความปลอดภัย และนอกจากจะมีเสือเป็นไฮไลท์เด็ดแล้ว ที่สวนสัตว์แห่งนี้ก็ยังมีสัตว์ชนิดอื่นๆมากมายให้ได้เลือกชม อากาศจะค่อนข้างเย็นสบายเพราะอยู่ติดป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า ใครที่เดินทางไปเที่ยวสวนเสือตระการ อุบลราชธานี ไม่ต้องห่วง เพราะอากาศจะไม่ร้อนอย่างแน่นอน

การเดินทางไปท่องเที่ยวชมเสือ ชมสัตว์ต่างๆที่สวนเสือตระการ ควรไปในช่วงวันหยุด ไปเที่ยวยกครอบครัว เพราะค่าเข้าชมไม่แพง ถึงแม้ว่าสวนเสือตระการจะเป็นสวนสัตว์ของเอกชน แต่ราคาก็ไม่แพงอย่างที่คิด อย่างเช่นค่าถ่ายภาพกับสัตว์หรือลูกเสือก็อยู่ที่ประมาณ 100 บาท ส่วนอาหารสัตว์ต่างๆก็มีขายในราคา 20-30 บาทเท่านั้น ถือว่าไม่แพง ผู้ปกครองสามารถพาลูกหลานเดินทางมาท่องเที่ยวได้เพราะปลอดภัยดี นอกจากนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เดินทางมาในช่วงวันหยุดแล้ว ที่สวนเสือตระการยังเป็นสถานที่สำหรับเรียนรู้ให้กับนักเรียนนักศึกษาได้ด้วยเช่นเดียวกัน ครูอาจารย์บางโรงเรียนมักจะพานักเรียนนักศึกษามาทัศนศึกษาที่นี่ เพื่อเรียนรู้แหล่งธรรมชาติ สัมผัสกับป่า สัมผัสกับการใช้ชีวิตของสัตว์ป่า เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ดี  ชาวอีสานไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล มุ่งหน้าไปที่อุบลราชธานี ยังไม่ทันถึงเมืองอุบลก็เข้าชมสัตว์ต่างๆได้แล้ว


แผนที่


เขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูล

เขื่อนปากมูล เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านหัวเห่ว ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีความสูง 17 เมตร ยาว 255 เมตร มีความจุของอ่างเก็บน้ำ 225 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนปากมูลอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีประมาณ 75 กิโลเมตร และห่างจากจุดบรรจบของแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงประมาณ 5.5 กิโลเมตร

เขื่อนปากมูลสามารถอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในด้านต่างๆ เช่น ด้านการชลประทาน สามารถสูบน้ำจากเขื่อนให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิตได้ถึง 160,000 ไร่ ด้านพลังงานไฟฟ้า เขื่อนปากมูลสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้โดยเฉลี่ยปีละ 280 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งช่วยเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ด้านการประมง บันไดปลาโจนและศูนย์เพาะพันธุ์ปลาที่สร้างขึ้น ช่วยพัฒนาการประมงในลำน้ำเหนือเขื่อนปากมูล ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านการคมนาคม สันของเขื่อนปากมูลสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดจากอำเภอโขงเจียมไปอำเภอสิรินธรได้โดยไม่ต้องย้อนไปอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางขนส่งได้มาก

สำหรับในด้านการท่องเที่ยว เขื่อนปากมูลถือเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นจุดที่มีทัศนียภาพสวยงามและมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ทั้งนี้กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การชมทัศนียภาพของแม่น้ำมูล ณ บริเวณสันเขื่อน ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ด้านหลังเขื่อน เป็นภาพลำน้ำมูลที่เต็มไปด้วยแก่งหินมากมาย ดูสวยงามยิ่งนัก นอกจากนี้บริเวณท้ายเขื่อนยังสามารถล่องเรือชมทิวทัศน์อันงดงามของลำน้ำมูลได้โดยตลอดจนถึงจุดที่บรรจบกับแม่น้ำโขง บริเวณที่เรียกว่า แม่น้ำสองสี

วันและเวลาทำการ: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.

ค่าเข้าชม: ฟรี




แผนที่


วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

ผาชัน


อำเภอโพธิ์ไทร อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จังหวัดอุบลราชธานี โดยตัวอำเภอนั้นตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง จึงส่งผลให้สภาพภูมิทัศน์ของอำเภอโพธิ์ไทร มีความงดงามและน่ามาเยือนเป็นอย่างยิ่ง
หมู่บ้านผาชัน ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่ามาเยือนมากแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี “เสาเฉลียงใหญ่” เป็นไฮไลท์หลักของการท่องเที่ยว เสาหินแห่งนี้มีความสูงประมาณ สูง 12 เมตร มีรูปร่างคล้ายกับดอกเห็ด
หากกล่าวตามความเชื่อของชุมชนแล้ว ถือว่าเสาเฉลียงนั้นเป็นที่อยู่ของเหล่าวิญญาณของเจ้าเมือง และทหารกล้า ซึ่งเสียชีวิตจากการไปสู้รบในต่างแดน เชื่อกันว่าวิญญาณนั้น จะเป็นผึ้งมารวมกันอยู่บริเวณเสาหิน ทุกๆ วันพระ จะมีเจ้ากวน (ผู้ทรงเจ้า) จากหมู่บ้านไปบูชาทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากเสาเฉลียงแล้ว หมู่บ้านผาชัน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย อาทิ ภูสมุย ถ้ำมืด ถ้ำโลงวขัวนางนี เป็นต้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนต้องไม่ พลาดการล่องเรือชมทิวทัศของแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลสำโรง ที่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่บริเวณริมฝั่งโขงที่เรียกกันว่า ผาชัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านนั่นเอง

โดย ผาชัน นั้นมีลักษณะเป็นหน้าผาหินที่มีความสูงชัน โดยหน้าผานั้นมีความสูง ประมาณ 40-50 เมตร จากระดับน้ำ ตลอดเส้นทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับความความสวยงามของตลอดสองฝั่งโขง ซึ่งจะมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายๆแห่ง ซึ่งประกอบด้วย

ผาตัวเลข หรือชาวบ้านเรียกว่า ผาศิลาเลข เป็นตัวเลขที่ชาวฝรั่งเศสแกะสลักไว้บนหน้าผา เพื่อวัดระดับความสูงของน้ำ ประกอบการเดินเรือในสมัยที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ปรากฏให้เห็นร่องรอยหินแกะสลักจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผาตัวเลขอยู่บริเวณริมฝั่งด้านซ้ายมือของท่าเรือบ้านผาชัน
ผาหมาว้อ เป็นหน้าผาหินที่มีความสวยงาม จะมีลักษณะเหมือนหัวสุนัขยื่นออกมาชาวบ้านจึงเรียกว่า “ผาหมาว้อ”

ผาสามหมื่นรู เป็นหน้าผาหินสูงชันตะปุ่มตะป่ำเกิดจากน้ำโขงไหลวนและกระทบฝั่งเป็นเวลานาน จนทำให้หน้าผาบริเวณนี้เป็นรูมากมายนับไม่ถ้วนชาวบ้านจึงเรียกว่า ผาสามหมื่นรู

นอกจากทัศนียภาพทางฝั่งไทยแล้วทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ที่สวยงามไม่แพ้ฝั่งขวาของเรา เช่น น้ำตกปากห้วยคอง เป็นน้ำตกชั้นเดียว และ น้ำตกปากห้วยบอน เป็นน้ำตก 2 ชั้น ที่ไหลลงมาจากน้ำธรรมชาติของประเทศลาว และไหลลงสู่แม่น้ำโขง ถือว่าเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวที่น่ามาเยือนไม่น้อย



แผนที่


วัดถ้ำวังผาพญานาคราช

"วัดถ้ำวังผาพญานาคราช"สถานปฏิบัติธรรมและเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นถ้ำวังพญานาคของจริง เพราะเจ้าอาวาสเคยนิมิตเห็นพญานาคมาอาศัยอยู่บริเวณนี้

โดยจังหวัดอุบลราชธานี มีการค้นพบ ถ้ำวังพญานาค ซึ่งถูกหินถล่มทับปากถ้ำมานานหลายสิบปี อยู่ใกล้ๆ กับวัดถ้ำผาพญานาคราช บ้านห้วยหมาก ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยพื้นที่รอบๆเป็นป่าและลำธารที่มีความสวยงาม และสมบูรณ์มีฝูงปลาน้ำจืด ขณะที่กลางลำห้วยมีสวนหย่อมที่เกิดบนลานหินตามธรรมชาติ โดยมี หลวงปู่เพิ่มพันธ์ อานันโท เป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำผาพญานาคราช
หลวงปู่เพิ่มพันธ์ เล่าว่า....คนในพื้นที่เล่าต่อกันมาหลายรุ่นแล้วว่า ลำห้วยหมากนี้เป็นที่พญานาคขึ้นมาเล่นน้ำ และมีถ้ำของพญานาคอยู่ใต้แผ่นหิน มีลักษณะปากถ้ำกว้าง ทอดยาวไปไกล เมื่อถึงฤดูฝนปากถ้ำมีน้ำไหลเข้าไป และน้ำจะไหลย้อนขึ้นไปยังลำห้วยตอนบนอีกฝั่งหนึ่งของลำห้วยหมาก เป็นน้ำที่ไหลย้อนขึ้นไปหาต้นน้ำ และลำห้วยหมากที่อยู่ตรงนี้ไม่เคยแห้งจะมีน้ำตลอดทั้งปีอีก ทั้งยังมีปลาจากแม่น้ำโขงว่ายขึ้นมาขยายพันธุ์ และท่านเคยนิมิตเห็นพญานาคมาอาศัยอยู่บริเวณนี้
นอกจากนี้ บริเวณที่ปลาอาศัยอยู่ชาวบ้าน เรียกว่า วัง คือเป็นถ้ำที่อยู่ใต้น้ำที่มีความลึก ทำให้มีปลามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในฤดูแล้ง คนสามารถเดินลอดออกไปได้ และชาวบ้านเล่าว่ามีการเล่าต่อๆกันมาว่าพบถ้ำแห่งนี้มากว่า 100 ปีแล้ว
และด้วยความศักดิ์สิทธฺ์ทำให้ผู้คนเดินทางมาไม่ขาดสาย ซึ่งนักพยากรณ์ชื่อดังอย่าง อ.ลักษณ์ เรขานิเทศ ก็ยังเดินทางมาสักการะ และหมอลักษณ์ได้พยากรณ์ว่าปีนี้เป็นปีแห่งพญานาคราช ให้มาสักการะเพิ่มศิริมงคล และโชคลาภให้โชคดีตลอดปี
หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวจังหวัดอุบลฯ ก็ลองแวะเข้าไปเยี่ยมชมกันได้นะคะ แต่อย่าลืมทำบุญหรือจะไปปฏิบัติธรรม สักการะองค์มุจรินทร์พญานาคราช ณ วัดถ้ำวังผาพญานาคราช อ.โขงเจียม อุบล จ.อุบลราชธานี

แผนที่