วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย


อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย


อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอบุณฑริก อำเภอนาจะหลวย และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา พื้นที่ป่าอยู่ในส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรักประกอบด้วยภูเขาภูเล็กภูน้อยมากมาย เช่น ภูจองนายอย ภูจองน้ำซับ ภูจอง ภูจันทร์แดง ภูพลาญสูง ภูพลาญยาว เป็นต้น มีสภาพป่าสมบูรณ์ สภาพธรรมชาติที่สวยงาม และมีสัตว์ป่าชุกชุม มีเนื้อที่ประมาณ 428,750 ไร่ หรือ 686 ตารางกิโลเมตร

ความเป็นมา: สืบเนื่องจาก ร.ต.ท.ณรงค์ เทวคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2525 ถึงกรมป่าไม้ เสนอโครงการพัฒนาป่าภูจอง-นายอยให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามความต้องการของราษฎรอำเภอนาจะหลวย และอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อป้องกันรักษาป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 116/2526 ลงวันที่ 19 มกราคม 2526 ให้นายอนุศักดิ์ ศรีทองแดง เจ้าพนักงานป่าไม้ 3 ไปทำการสำรวจพื้นที่ดังกล่าว

ผลการสำรวจ ปรากฏว่าสภาพพื้นที่ป่าสมบูรณ์ สัตว์ป่าหลายชนิดชุกชุม และมีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง ตามรายงานการสำรวจ ที่ กส 0713(ภจ)/พิเศษ ลงวันที่ 12 เมษายน 2526 เพื่อเป็นการสนองตอบความต้องการของราษฎรที่จะอนุรักษ์ป่าภูจอง-นายอยไว้ ต่อมานายเคน ประคำทอง ราษฎรอำเภออุดมเดช จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2526 ถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้เร่งรัดสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมเห็นว่า พื้นที่ป่าภูจอง-นายอยมีสภาพทิวทัศน์และธรรมชาติที่สวยงามเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามหนังสือวนอุทยานภูจอง ที่ กห 0713(ภจ)/77 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2527

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 3/2527 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2527 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ป่าดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูจอง-นายอยในท้องที่ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก ตำบลนาจะหลวย อำเภอนาจะหลวย และตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 103 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 53 ของประเทศ



แผนที่


ทุ่งหนองหญ้าม้า


ทุ่งหนองหญ้าม้า


พื้นที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ณ ทุ่งหนองหญ้าม้า ต.คำขวาง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลของ มทบ.22 ปกติจะใช้เป็นที่ซ้อมยิงปืนใหญ่ของกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 6 ซึ่งจะทำการฝึกยิงปืนใหญ่ด้วยกระสุนจริง ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยจะมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าเป็นเวลาร่วมเดือน ชาวบ้านในระแวกนั้นต่างรับรู้โดยทั่วกัน

นอกเหนือจากเวลาที่ทหารใช้ฝึกยิงกระสุนปืนใหญ่ ชาวบ้านจะนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปหากินหญ้าที่ทุ่งหนองหญ้าม้าแห่งนี้ และเมื่อถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว ดอกไม้ป่า เช่น กระดุมเงิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หญ้าหัวหงอก จะเจริญเติบโตขึ้นเต็มทุ่งแห่งนี้ ราวกับปูพรมด้วยดอกไม้สีขาว เป็นที่นิยมของบรรดาช่างภาพ ต้องหาโอกาสมาเก็บภาพให้ได้ โดยเฉพาะคู่รักที่กำลังจะแต่งงาน ต่างพากันมาถ่ายภาพพรีเว็ดดิ้งที่ทุ่งหนองหญ้าม้าแห่งนี้มากมายหลายคู่
นอกจากดอกกระดุมเงินแล้ว ที่ทุ่งหนองหญ้าม้าแห่งนี้ ยังมีดอกสร้อยสุวรรณา สีเหลืองทอง ขึ้นเต็มท้องทุ่ง แซมด้วย ดอกจอกบ่วาย ให้ได้เก็บภาพกัน

ทุ่งหนองหญ้าม้า อยู่ที่ บ้านโนนเค็ง ตำบลคำขวาง อำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี การเดินทางไป ให้เริ่มต้นที่ ปั้มน้ำมัน ปตท. สี่แยกตลาดเจริญศรี เลี้ยวซ้ายตรงไปถึงแยกบ้านแต้ เลี้ยวขวา ตรงไปจนถึงที่ทำการ อบต.คำขวาง ตรงไปจนถึงวัดบ้านแต้ มีทางแยก ให้เลี้ยวซ้าย ตรงไป สังเกตุร้านขายของชำ ร้านที่สองด้านซ้ายมือ ข้างๆ ร้านจะมีทางแยกเข้าไป ให้ตรงไปตามทางนี้เรื่อยๆ จะพบรั้วทหาร มีช่องให้รถผ่านเข้าไปได้ ก็ถึงทุ่งหนองหญ้าม้า 





แผนที่

สวนสัตว์อุบลฯ อุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี ที่น่าเที่ยวอิสานใต้ Ubon Zoo


ที่น่าเที่ยวชมธรรมชาติอิสานใต้ สวนสัตว์อุบลฯ อุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี
ขอพาทุกท่านไปชมสวนสัตว์ขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคอีสานตอนล่าง ขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ “สวนสัตว์อุบลราชธานี” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงฟ้าห่วน ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 5 กิโลเมตร ในท้องที่บ้านหนองมะเขือ ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

ชวนกันมาเที่ยว อุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี ที่น่าเที่ยวอิสานใต้
สวนสัตว์อุบลราชธานี นี้มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,217 ไร่ มีสภาพเป็นป่าโปร่ง มีต้นยางนา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นอยู่ดาษดื่นทั่วไป โดยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับมอบพื้นที่แห่งนี้จากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2550 หลังจากนั้น ก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

ความน่าสนใจของสวนสัตว์อุบลราชธานี อยู่ที่แนวคิดจะทำให้เป็นสวนสัตว์ที่สมบูรณ์ที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น การออกแบบด้านภูมิสถาปัตย์จึงเน้นการออกแบบให้ผสมกลมกลืนไปกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการจัดสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสวนสัตว์ต่างๆ โดยรอบ ให้สอดคล้องกับสภาพเดิมของผืนป่าอันสมบูรณ์ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าให้คงไว้ เพื่อการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ การขยายพันธุ์พืชและสัตว์ป่า เป็นศูนย์วิจัย และแหล่งให้ความรู้ในลักษณะห้องเรียนธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ตลอดจนการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

เมื่อการก่อสร้างต่างๆ เริ่มแล้วเสร็จกลางปี 2555 ก็ได้มีการวางแผนนำสัตว์บางชนิดเข้ามา เพื่อให้เคยชินกับสภาพพื้นที่ กระทั่ง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2555 ได้มีการนำสัตว์จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์นครราชสีมา มาปล่อยเข้าสู่สวนสัตว์อุบลราชธานี เช่น สัตว์ตระกูลกวาง และสัตว์นักล่า เป็นต้น รวม 26 ชนิด มากกว่า 170 ตัว จนสามารถทดลองให้บริการให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สวนสัตว์อุบลราชธานี เปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 นักท่องเที่ยวจะได้ชมการใช้ชีวิตของสัตว์ในธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยจำแนกสัตว์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ สัตว์กีบไทย มี 4 ชนิด ได้แก่ เก้ง ละมั่งพันธุ์พม่า เนื้อทราย กวางป่า สัตว์กีบต่างประเทศ มี 3 ชนิด ได้แก่ ซิก้า บาราซิง แบล็คบั๊ค สัตว์แอฟริกา มี 5 ชนิด ได้แก่ ยีราฟ นกกระจอกเทศ วอเตอร์บั๊ค ไนอาล่า ม้าลาย และอาณาจักรสัตว์นักล่า
ขณะนี้ สวนสัตว์อุบลราชธานี ได้จัดสร้างส่วนแสดงแล้วเสร็จจำนวน 9 ส่วนแสดง คือ ส่วนแสดงเสือโคร่งไซบีเรีย เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งขาว สิงโต สิงโตขาว สัตว์กีบไทย สัตว์กีบต่างประเทศ สัตว์แอฟริกา และ Mini Zoo บริเวณลานจอดรถ ซึ่งมี จระเข้น้ำจืด นกกระจอกเทศ งูหลามทอง หมีขอ และเต่าซูกาต้า โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ภายในเป็นรูปแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้เป็นสวนสัตว์แนวจังเกิ้ล ปาร์ค (Jungle Park) และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ
สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ทางสวนสัตว์อุบลราชธานี ได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งปัจจุบัน มีการกำหนดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ภายในสวนสัตว์อุบลราชธานี และทำการสำรวจพื้นที่ พืชพรรณ และสัตว์ป่าในพื้นที่ปกปัก และที่นี่ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์ต้นยางนาขนาดใหญ่ มีความสมบูรณ์ มากกว่า 1,000 ต้น ซึ่งชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมกันดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากผืนป่าอย่างเกื้อกูลต่อกันมาช้านาน
ทั้งนี้ สวนสัตว์อุบลราชธานี มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สวนสัตว์แห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ทั้งในเรื่องสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีโครงการนำนักเรียนเข้าเรียนรู้ในสวนสัตว์ ซึ่งรองรับนักเรียนได้มากกว่า 30,000 คน ในปี พ.ศ. 2556 นับเป็นสวนสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสานตอนล่าง ทั้งมีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (AC) ทั้ง 10 ประเทศ

เปิดทำการทุกวัน 08.00-18.00 น.
อัตราค่าบัตรผ่านประตู
ผู้ใหญ่ 70 บาท เด็ก 20 บาท แสดงบัตรข้าราชการ 40 บาท แสดงบัตรนักศึกษา 30 บาท นักเรียน/นักศึกษาในเครื่องแบบ ฟรี
ชาวต่างชาติ 100 บาท
อัตราค่าบริการรถนำเที่ยว(รถแทรม) พร้อมวิทยากร ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
อัตราค่าบริการรถกอล์ฟชมสัตว์ในโซนแสดง 300 บาท/ชม.



แผนที่


หาดชมดาว



หาดชมดาว

หาดชมดาว หรือ แก่งชมดาว อยู่ในบริเวณหมู่บ้านโนนตาล อำเภอนาตาล อุบลราชธานีอยู่ก่อนถึงสามพันโบกประมาณ  20 ก.ม. หาดชมดาวเป็นแนวหาดหิน แก่งหิน อันกว้างใหญ่และยาวมากหลายร้อยเมตร  ซึ่งการเกิดของหินรูปพรรณสัณฐานประหลาด เช่นเดียว กับสามพันโบก ซึ่งในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินเหล่านี้จะจมอยู่ใต้แม่น้ำโขงและด้วยแรงน้ำวนกัดเซาะ ทำให้แก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็กใหญ่ จำนวนมาก เกิดเป็นประติมากรรมหินธรรมชาติรูปร่างแปลกตาชวนให้จินตนาการ  หาดชมดาวมีลักษณะคล้ายกับสามพันโบกแต่ มีพื้นที่ กว้างกว่า รวมถึงมีริ้วลายหินและรูปทรงแปลกๆให้เห็นชมเยอะกว่า บางพื้นที่เป็นรูเว้าแหว่ง บางพื้นที่ก็ซ้อนกันเป็นชั้น  บางพื้นที่เป็นดิน แห้งระแหง มีแอ่งน้ำน้อยใหญ่ บางแอ่งใหญ่บางแอ่งเล็ก มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไป  หาดชมดาวมีจุดไฮไลต์ที่ สวยที่สุด ซึ่งเป็นลักษณะเป็นผาหินสูงใหญ่และเว้าแหว่งยาวคล้ายช่องแคบมีสายน้ำไหลผ่าน และมีก้อนหินเล็กกลางน้ำให้ลงไปยืนโพสต์ท่าถ่ายรูป ซึ่งได้มุมสวยเก๋ไม่เหมือนใคร  ช่วงเวลาที่เหมาะสมมี 2 ช่วง คือ เช้าและบ่ายไม่แนะนำให้มาเที่ยงเพราะจะร้อนมาก หากอยากชม พระอาทิตย์ขึ้นก็มาในช่วงเช้าก่อน 8 โมง  เพราะหลังจากเวลานั้นไปแดดจ้ามาก เพราะอุบลเป็นจังหวัดที่พระอาทิตย์ขึ้นเร็วมาก ตีห้าครึ่ง พระอาทิตย์เริ่มมาแล้ว และอีกหนึ่งช่วงคือ ช่วงบ่ายตั้งแต่ประมาณ 4 โมง เย็น ทั้งนี้ต้องเผื่อเวลาเดินอีกประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยค่ะ  ส่วนช่วงเวลาที่เหมาะจะมาเที่ยวนั่นก็คือ ตั้งแต่ พ.ย. –พ.ค.

คำแนะนำ หาดชมดาวมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างมากกว่าสามพันโบก เมื่อมาถึงศาลาซึ่งเป็นจุดจอดรถต้องเดินไปอีกเกือบ  1 ก.ม.จึงจะไปถึง จุดไฮไลต์หรือแม้แต่ลวดลายหินสวยๆในบริเวณอื่น ซึ่งจะแตกต่างกับสามพันโบกที่เดินไปนิดเดียวก็ถึงแก่ง สำคัญที่สุดหากยังไม่เคย มาเที่ยว ให้ขอไกด์นำทางมาด้วยสามารถติดต่อจากที่พักก็ได้ ไม่แนะนำให้เดินหาเองเพราะจุดไฮไลต์จะหาเจอยากมากไม่มีป้ายบอก ชัดเจนถ้าไม่ใช่เป็นคนในพื้นที่อาจหลงทางไปไกลและควรเตรียมน้ำดื่มมาให้พร้อม




แผนที่


วันพุธที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562

เขื่อนสิรินธร


เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยอันเป็นสาขา ของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งนอกประโยชน์ในการผลิตกำลังไฟฟ้าแล้ว เขื่อนสิรินธรยังเป็นแหล่งประมง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยบริเวณเขื่อนได้มีการจัดสร้าง"สวนสิรินธร"เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นักท่องเที่ยวสามารถ การมาชม ทัศนียภาพเหนือสันเขื่อน  รับประทานปลาสดจากร้านอาหารสวัสดิการ  ล่องเรือเที่ยว ถ่ายรูปหรือพักผ่อนภายในสวนหย่อมซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม



แผนที่


น้ำตกแสงจันทร์


น้ำตกแสงจันทร์ น้ำตกลงรู หนึ่งเดียวในเมืองไทย ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งนาเมือง ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  ชื่อของน้ำตกเรียกตามลักษณะของสายน้ำที่ตกผ่านลงรูหิน ส่วนที่มาของชื่อน้ำตกแสงจันทร์นั้น เรียกตามสายธารน้ำตก ที่โปรยละออง ผ่านช่องหินลงมาเป็นสีขาวนวลคล้ายแสงจันทร์โดยเฉพาะในวันเพ็ญ ที่แสงจันทร์จะสาดส่องมาตรงรูหินพอดี พร้อมกับละอองของธารน้ำตก ที่โปรย ดูเป็นประกายสีนวลสวยงามมาก ซึ่งทั้งหมดนี้คือที่มาของชื่อและเสน่ห์ของน้ำตกแห่งนี้ ที่ยังคงเก็บความงามสงบประสานอย่าง กลมเกลือนของธรรมชาติไว้ให้เป็นที่ประทับใจ

สาเหตุของการเกิดรูขนาดใหญ่ เกิดจากการกัดเซาะของสายน้ำ โดยเมื่อมีฝนตกลงมามากๆ น้ำในลำธารตามป่าเขาก็จะมีปริมาณมาก พร้อมทั้งไหลแรงและเร็วพร้อมกันนี้กระแสน้ำก็ได้พัดพาเอาก้อนกรวด ก้อนหิน ไหลติดไปด้วยซึ่งก็จะมี ก้อนกรวดก้อนหินส่วนหนึ่ง ไหลเข้าไปติดในหลุม เมื่อกรวดหินไปติดในหลุมผนวกกับกระแสน้ำที่ไหลแรง ก้อนกรวดก้อนหินเหล่านั้นก็วิ่งวนอยู่ในหลุมทำให้หลุมที่ เป็นหินทรายซึ่งมีความแกร่งน้อยกว่ากรวดหิน ขยายตัวเป็นหลุมกว้างขึ้นเรื่อยๆ นานวันเข้าหลุมก็ทะลุกลายเป็นรูกระแสน้ำที่ไหลลงหลุม ก็เปลี่ยนมาไหลลง กลายเป็น "น้ำตกลงรู" ในที่สุด


แผนที่


อุทยานแห่งชาติผาแต้ม


อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 212,500 ไร่ หรือ 340 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงต่ำสลับกันไปทั่วพื้นที่ ระดับความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 100-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล แนวเขตด้านทิศตะวันออกใช้เส้นแบ่งเขตแดนประเทศและติดกับประเทศลาว ซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตโดยตลอดความยาวประมาณ 63 กิโลเมตร สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นลานหิน รอบแนวเขตถัดจากฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นหน้าผาสูงชัน มีภูผาที่สำคัญได้แก่ ภูผาขาม ภูผาเมย ภูผาเจ็ก ภูผาสร้อย ภูย่าแพะ ภูชะนะได ภูผานาทาม ภูโลง ภูปัง ภูจันทร์แดง ภูหลวง ภูสมุย และภูกระบอ เป็นต้น อุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นแหล่งต้น้ำาลำธารของห้วยช้าง ห้วยภูโลง ห้วยฮุง ห้วยลาน ห้วยเพราะ ห้วยแยะ ห้วยกวย ห้วยกะอาก ห้วยใหญ่ ห้วยสูง และห้วยหละหลอย

สิ่งที่ทำให้คนไทยที่ไม่ใช่เพียงนักท่องเที่ยวรู้จักกับผาแต้ม คือ การที่ผาแต้มเป็นพื้นที่ที่ใช้อ้างอิงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นของประเทศไทย ดังจะได้ยินกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศในทุกเช้าอยู่เสมอว่าเวลาพระอาทิตย์ขึ้นวัดจากผาชะนะได ซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของอุทยาน จึงเป็นจุดที่มองเห็นพระอาทิตย์ก่อนใครในสยาม ในด้านธรรมชาติที่นี่ยังอุดมด้วยป่าเต็งรังและป่าดิบแล้งจำนวนมาก สลับกับลานหินกระจายอยู่ทั่วภูเขา รวมถึงหน้าผาหินที่บริเวณผาแต้มเมื่อมองดูจากแม่น้ำโขงด้านล่างจะเห็นเป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ บริเวณด้านล่างของหน้าผามีภาพเขียนของสีก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏเรียงรายอยู่ตามผนังเป็นจำนวนมาก เป็นภาพเขียนสีศิลปะถ้ำโบราณที่มีอายุเก่าแก่ และเป็นแหล่งที่พบมากที่สุดในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การเก็บรักษา จนได้มีการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา

การเดินทางมาเที่ยวที่ผาแต้มนั้นมีสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง ทั้งทางโบราณคดีและธรรมชาติ ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายด้วยถนนลาดยางเข้าถึงที่ทำการอุทยานฯ และยังเชื่อมต่อกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง คุณจึงสามารถขับรถเที่ยวได้ง่าย ในเส้นทางไปยังที่ทำการคุณสามารถจอดรถเที่ยวชมเสาเฉลียงซึ่งตั้งอยู่ริมทางก่อนถึงผาแต้มเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มมีเสาเฉลียงให้ชมอยู่ 2 แห่ง คือเสาเฉลียงคู่แห่งนี้ และเสาเฉลียงใหญ่ที่อยู่ในเขตบ้านผาชัน บนเนินหินด้านหลังเสาเฉลียง คุณยังสามารถเดินขึ้นไปชมวิวแม่น้ำโขงตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติได้ด้วย ถัดจากการเที่ยวชมเสาเฉลียงแล้ว ขับรถมาถึงลานจอดรถเพียงเดินเท้าผ่านลานหินไม่ไกลก็ได้มาชมภาพเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีอายุราว 3,000-4,000 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มภาพเขียนสีที่ยาวที่สุดในประเทศไทย การเดินชมภาพเขียนมีเส้นทางเดินลอดไปตามหน้าผาวกกลับมายังศูนย์บริการ ซึ่งคุณสามารถเดินเที่ยวได้ภายในวันเดียว จากนั้นจึงขับรถไปเที่ยวชมน้ำตกสร้อยสวรรค์ จากน้ำตกสร้อยสวรรค์ ยังมีเส้นทางเดินผ่าไปชมวิวที่ผาเจ๊ก และผาเมยได้อีก ระยะทาง 3 กิโลเมตร

สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของการมาเที่ยวผาแต้มอีกแห่งหนึ่งคือ น้ำตกแสงจันทร์ หรือน้ำตกรู ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ มีถนนลาดยางเข้าถึงลานจอดรถและเดินเท้าเข้าไปชมน้ำตกได้สะดวก ในเส้นทางเดียวกันนี้ขับรถต่อไปอีกหน่อยมีน้ำตกทุ่งนาเมืองให้คุณได้เที่ยวชมอีกเช่นกัน และไปจบรายการเส้นทางนี้ที่เถาวัลย์ยักษ์ ที่สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ หากคุณเป็นคนชอบเดินป่า จากหน่วยพิทักษ์อุทยานคันท่าเกวียนยังมีเส้นทางเดินไปชมน้ำตกห้วยนาเมืองใหญ่ ภูถ้ำน้ำ ผาหินฝน ถ้ำโบกโลง กลุ่มเสาเฉลียง หินโยกมหัศจรรย์ ผาแดง และโหง่นแต้มได้ด้วย การเดินทางต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางด้วย หากคุณมีเวลาไม่มากนัก เพียงขับรถมาชมน้ำตกทุ่งนาเมืองก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้เส้นทางไปยังบ้านนาโพธิ์กลาง-บ้านซะซอม หากเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อสามารถขับไปจนถึงถ้ำปาฏิหาริย์ได้ จากนี้จะเป็นเส้นทางเดินป่าพิชิตยอดผาชะนะได ซึ่งเป็นเส้นทางเดินป่าที่นิยมของนักเดินไพรเป็นอย่างยิ่ง

อุทยานแห่งชาติผาแต้มได้จัดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติพิชิตยอดผาชะนะไดไว้ 3 เส้นทางด้วยกัน ซึ่งคุณสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปีและเลือกเส้นทางที่ท้าทายได้ตามความชอบ คือ เส้นทางผาแต้ม-น้ำตกสร้อยสวรรค์ เส้นทางน้ำตกทุ่งนาเมือง-ผาชะนะได และเส้นทางถ้ำปาฏิหาริย์-ผาชะนะได ซึ่งเส้นทางสุดท้ายนี้จะผ่านน้ำตกสะปัน และหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 5 (ดงนาทาม) ก่อนจะเดินตัดขึ้นเขาไปยังน้ำตกห้วยพอก และหน้าผาชะนะได การเดินทางในเส้นทางนี้ต้องค้างแรมกลางป่าและแค้มป์ปิ้ง เหมาะกับนักท่องเที่ยวประเภทลุยๆ จากผาชะนะไดยังสามารถเดินไปเที่ยวที่ถ้ำฝ่ามือแดง ผาหินแตก และผากำปั่นได้อีกด้วย
เสน่ห์อย่างหนึ่งของการเดินทางมาท่องเที่ยวผาแต้ม นอกจากการมาชมภาพเขียนสี ดูน้ำตก เดินป่าพิชิตยอดสูงสุดที่มองเห็นพระอาทิตย์ก่อนใครในสยามแล้ว ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ยังเป็นช่วงที่จะผลิบานอวดดอกสวยเต็มลานหินด้วย ช่วยสร้างสีสันให้กับอุทยานฯ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อย และเดินป่าไม่ไหวแต่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ

หลังจากเที่ยวที่ผาแต้มเสร็จแล้ว ยังสามารถไปพักผ่อนปิกนิกริมแก่งมโนราห์เป็นรายการปิดท้ายได้อีก จะนั่งชมวิวรับประทานอาหารหรือลงเล่นน้ำก็ได้ทั้งนั้น




แผนที่