แม่น้ำสองสี
แม่น้ำสองสี
แม่น้ำสองสี หมายถึง แม่น้ำที่มีสีของน้ำที่แบ่งได้เป็นสองสี กล่าวคือ เป็นสีของน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ซึ่งไหลมาบรรจบกัน บริเวณดอนด่านหรือปากมูล ทำให้น้ำบริเวณนั้นมีสีแตกต่างกันและจะผสมกลมกลืนเป็นสีเดียวกัน ไหลตามลำน้ำโขงลงสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่อไป จะเห็นได้ชัดเจนช่วงเดือนเมษายน
ลักษณะของสีน้ำในลำน้ำมูลจะมีสีใสคล้ายสีคราม และลักษณะของสีน้ำในแม่น้ำโขงจะมีสีเข้มคล้ายสีปูน เนื่องจากมีการสะสมของฝุ่นตะกอนมาก มีชื่อเรียกติดปากว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” ในบริเวณที่แม่น้ำทั้งสองไหลลงมาบรรจบกันจะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งหินยื่นไปในแม่น้ำ เรียกว่า ดอนด่าน เป็นธรรมชาติที่สวยงาม ในฤดูแล้งสามารถเดินเท้าจากฝั่งแม่น้ำไปตามโขดและแก่งหินได้
แม่น้ำสองสี ดอนด่าน และปากมูล อยู่บริเวณหลังวัดโขงเจียม ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 800 เมตร
แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติ มีต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไหลผ่านหรือเป็นเส้นกั้นพรหมแดนประเทศน้อยใหญ่มากถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขงนั้นมีสามเหลี่ยมดินดอนที่มีความหลากหลายทางชีววิทยาและธรณีวิทยาอย่างยิ่ง อีกทั้งตลอดเส้นทางของแม่น้ำโขงยังมีพันธ์ุปลานับพันชนิด โดยเฉพาะปลาบึกซึ่งพบได้เพียงเฉพาะแม่น้ำสายนี้เท่านั้น จึงเป็นแม่น้ำที่สำคัญอย่างยิ่ง ความยาวของแม่น้ำโขงวัดแล้วยาวราว 4,900 กิโลเมตร ติดอันดับ 10 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก
แม่น้ำโขงจะไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานีด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ประมาณ 130 กิโลเมตร โดยผ่านอำเภอเขมราฐ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอศรีเมืองใหม่ และจุดสุดท้ายที่บ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม
มีตำนานของชาวไทยกับลาว ได้เล่าขานมาว่าแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินแห่งประเทศพม่ามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน แต่ถึงคราวแยกจากเพราะพญานาคสองตนทะเลาะกัน หนึ่งตนเลือกเส้นทางใกล้กว่าแต่ผ่านหุบเขาผืนป่ารกทึบไร้ผู้คนเพื่อมุ่งหน้าสู่ท้องทะเลกลายเป็นแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ตนหนึ่งเลือกเดินทางไกลผ่านที่ราบดินแดนของผู้คนหลากหลายอารยธรรม สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ซึ่งก็คือแม่น้ำโขง
แม่น้ำมูล เป็นแม่น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาในจังหวัดนครราชสีมา มีความยาว 640 กิโลเมตร พื้นที่ลุ่มน้ำ 69,701 ตารางกิโลเมตร แต่เดิมนั้น ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้คำสะกด "มูน" ซึ่งเป็นภาษาถิ่น หมายถึง สิ่งมีค่าน่าหวงแหน เป็นมรดกของบรรพบุรุษสั่งสมเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่ทางราชการได้กำหนดภาษาราชการตามเสียงเรียก โดยสะกด "มูล" ด้วย ล
แม่น้ำมูลไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานีเป็นระยะทางยาวประมาณ 100 กิโลเมตร ที่อำเภอเมือง อำเภอวารินชำราบ กิ่งอำเภอดอนมดแดง อำเภอตาลสุม อำเภอพิบูลมังสาหาร ไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริวเณดอนด่านหรือปากมูล อำเภอโขงเจียม มีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยปีละ 24,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 760 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประชาชนใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูลในการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่